กรมอนามัย ห้ามประชาชนซื้ออาหารในห้าง ให้สั่งผ่านดีลิเวอรี่เท่านั้น

กรมอนามัยสั่งการเข้มงวด งดให้ประชาชนยืนสั่งซื้ออาหารในห้างแม้จะยืนอยู่หน้าร้านอาหารก็ตาม แนะให้สั่งซื้อผ่าน ดิลิเวอรี่ หรือสั่งซื้อผ่านทางออนไลน์เท่านั้น เพื่อป้องการและควบคุมโรคไม่ให้แพร่กระจายไปยังผู้ขาย หากฝ่าฝืนปรับสูงสุดถึง 20,000 บาท

 

 

วันที่ 3 กรกฎาคม 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการประกาศมาตรการข้อกำหนดฉบับที่ 30 ประกอบคำสั่ง ศบค.ที่ 11/2564 วันที่ 1 ส.ค.2564 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค. เป็นต้นไป ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับร้านอาหาร ได้ให้ทุกพื้นที่ปฏิบัติตาม 3 ประเด็นสำคัญ คือ 1.การจัดนั่งบริโภคอาหาร 2.ระยะเวลาการให้บริการ 3.การบริโภคสุรา โดยแบ่งพื้นที่ออกมาเป็น 3 ลักษณะด้วยกัน คือ

 

1.พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดจำนวน 29 จังหวัด ห้ามบริโภคในร้าน ให้จำหน่ายแบบนำไปบริโภคที่อื่น ในส่วนของห้างสรรพสินค้าจำหน่ายได้เฉพาะดิลิเวอรี่ (งดจำหน่ายหน้าร้าน) ระยะเวลาในการให้บริการเปิดได้ไม่เกิน 20.00 น.

 

2.พื้นที่ควบคุมสูงสุด จำนวน 37 จังหวัด สามารถนั่งบริโภคในร้านได้ตามปกติ แต่เปิดบริการได้ไม่เกิน 23.00 น. และห้ามบริโภคสุราในร้าน

 

3.พื้นที่ควบคุม จำนวน 11 จังหวัด นั่งบริโภคในร้านได้ เปิดให้บริการได้ตามปกติภายในกำหนดเวลาปกติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และห้ามบริโภคสุราในร้าน

 

นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่ 29 จังหวัด ย้ำว่า ร้านอาหารหรือเครื่องดื่มในศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ จะจำหน่ายในรูปแบบการสั่งอาหารหรือเครื่องดื่มผ่านบริการขนส่งอาหาร (Food Delivery Service) โดยเปิดได้ไม่เกิน 20.00 น.ไม่มีการจำหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยตรง เพื่อลดการติดต่อระหว่างผู้จำหน่ายกับผู้บริโภคจำนวนหลายคน

 

“ซึ่งเรื่องนี้ก็มีการสอบถามเข้ามาจำนวนมากว่า ห้างสรรพสินค้ามีการเปิดซูเปอร์มาร์เก็ตให้เข้าไปจับจ่ายใช้สอยได้ แต่เมื่อซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตแล้ว สามารถซื้ออาหารหรือเครื่องดื่มในร้านอาหารที่อยู่ในศูนย์การค้านั้นได้หรือไม่ โดยไม่ต้องสั่งผ่านไรเดอร์

 

ตรงนี้ขอชี้แจงว่า หากร้านอาหารในห้างสรรพสินค้านั้นๆ หรือตัวห้างเอง สามารถจัดระบบดิลิเวอรี่เอง โดยมีระบบการสั่งผ่านออนไลน์ โทรศัพท์ หรือพนักงานอำนวยความสะดวกเอง ที่ไม่ให้ผู้บริโภคไปซื้อกับผู้จำหน่ายโดยตรงก็สามารถทำได้ เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคไปรอ หรือไปแออัดหน้าร้าน แต่หากศูนย์การค้า หรือห้างสรรพสินค้าไม่สามารถทำได้ ก็ต้องใช้บริการทางฟู้ดดิลิเวอรี่แทน”

 

นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า ในข้อกำหนดฉบับที่ 30 กำหนดด้วยว่าห้างศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอล มีหน้าที่และมีความรับผิดชอบที่จะต้องจัดให้มีระบบการคัดกรอง ซึ่งระบบคัดกรองในทีนี้จะไม่ใช่คัดกรองเฉพาะอาการไข้ ระบบทางเดินหายใจหรืออาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิดอย่างเดียว แต่จะต้องคัดกรองไปถึงประวัติความเสี่ยง พฤติกรรมเสี่ยงของคนทำงานที่เกี่ยวข้องด้วย

 

โดยเฉพาะผู้ขนส่งอาหาร หรือคนทำงานก่อนที่จะเข้ามาในพื้นที่อาคาร ต้องมีการจัดคิว กำหนดพื้นที่เฉพาะสำหรับรอคิว เว้นระยะห่างระหว่างที่นั่ง หรือที่ยืนอย่างเข้มงวด ต้องจัดให้มีทางเข้า ออกที่ชัดเจน หากมีคนทำงานที่เกี่ยวข้องไม่สบายต้องให้หยุดงาน และไปตรวจโรคทันที และทุกร้านจะต้องประเมินมาตรฐานสุขภาพลักษณะของสถานที่ผ่าน “thai Stop covid Plus” เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขมาติดตามกำกับและประเมินผล

 

ส่วนประชาชนที่สั่งซื้ออาหารดิลิเวอรี่ ต้องดูความจำเป็นว่าอาหารที่สั่งซื้อนั้นมีประโยชน์หรือจำเป็นมากน้อยเพียงใด เน้นอาหารปรุงสุกใหม่ เมื่อออกไปรับอาหารจากผู้ส่งก็ควรสวมหน้ากากด้วย ให้คิดเสมอว่าคนที่เข้ามาหาเราคือผู้มีเชื้อ และรับมาแล้วนำให้บริโภคทันที ที่สำคัญคือพยายามชำระเงินด้วยระบบออนไลน์

 

เมื่อถามถึงแนวทางหรือการจัดระเบียบพนักงานส่งอาหาร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า พนักงานส่งอาหารหรือไรเดอร์ มี 2 กลุ่ม คือกลุ่มฟลูไทม์ กับพาร์ทไทม์ โดยกลุ่มฟูลไทม์ ผู้ประกอบการจะมีการกำกับอย่างดี บางคนได้ฉีดวัคซีนแล้ว แต่ปัญหาส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มพาร์ทไทม์ เพราะประเด็นที่ได้รับการร้องเรียนคือจุดที่รอรับอาหาร หรือจุดส่งคำสั่งซื้อ มักเห็นการรวมกลุ่มกันของกลุ่มนี้

 

ฉะนั้นแล้วต้องขอความร่วมมือแต่ละร้านโดยเฉพาะที่อยู่นอกห้างให้ควบคุม จัดระบบ ไม่ให้มีการรวมตัวหน้าร้าน ส่วนร้านที่อยู่ในศูนย์การค้า หรือห้างสรรพสินค้า ซึ่งมีข้อกำหนดตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.2564 ว่าห้างสรรพสินค้าต้องจัดระบบ และควบคุมกำกับ ไม่ให้ในส่วนของไรเดอร์มารวมกลุ่ม แออัด

 

“ส่วนจะมีโทษหรือไม่นั้น ตัวข้อกำหนดต่าง ๆ ที่ออกตามมาตรา 9 ในพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ร่วมกับพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ประกาศชัดว่า กรณีอยู่นอกเคหะสถาน หากไม่สวมหน้ากากอนามัย ถือว่ามีความผิด และคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้ออกระเบียบ ซึ่งออกตามมาตรา 34(6) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2564 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้กำหนดความผิดในเรื่องการรวมกลุ่ม และไม่สวมหน้ากากอนามัย รวมทั้งการพูดคุย การสูบบุหรี่ หรือกิจกรรมนันทนาการใดๆ ก็ตาม โดยหากผิดครั้งแรกจะมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท หากครั้งที่ 2 ปรับ 1,000 -10,000 บาท ครั้งที่ 3 ปรับ 10,000 -20,000 บาท

 

ซึ่งในส่วนนี้เจ้าพนักงานตามกฎหมาย และคณะกรรมการโรคติดต่อของกรุงเทพมหานคร หรือจังหวัดมีหน้าที่ควบคุมกำกับให้เป็นไปตามประกาศ จึงขอให้ความร่วมมือ และหากประชาชนพบพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงเกิดโรคระบาด ให้แจ้งไปที่จังหวัด หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือหากอยู่ในเขตกทม. ให้แจ้งไปที่สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร”

 

 

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : ประชาชาติธุรกิจ

ขอบคุณรูปภาพจาก : ประชาชาติธุรกิจ, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย