สสจ.พังงา ออกมาแถลงการกรณีพบผู้เสียชีวิต 1 ราย กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันรุนแรง หลังจากฉีดวัคซีนโควิด และเส้นเลือดในสมองตีบอยู่ในอาการโคม่าอีก 1 ราย
เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา สั่งการสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพังงา แถลงข่าวกรณีมีผู้เสียชีวิต 1 ราย และมีผลข้างเคียงค่อนข้างรุนแรง 1 ราย หลังจากเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 จากพื้นที่บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ใน จ. ภูเก็ต โดย นายแพทย์ วิเศษ กำลัง รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพังงา เผยว่า ผู้ป่วยชายวัย 43 ปี มีภูมิลำเนาในเขตเทศบาลเมืองพังงา เสียชีวิต หลังจากเข้ารับการฉีดวัคซีนซิโนแวค ที่หน่วยฉีดวัคซีน ท่าอากาศยานภูเก็ต เมื่อวันที่ 23 พ.ค.64 เวลา 16.20 น.
นายแพทย์ วิเศษ เผยว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพังงา เตรียมประสานกับทาง สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต เพื่อหาข้อมูลและเปรียบเทียบข้อมูลการให้บริการวัคซีนในกลุ่มบุคคลที่ฉีดวัคซีนในล๊อตเดียวกัน หรือในช่วงเวลา สถานที่เดียวกัน
ขณะที่อีกรายผลข้างเคียงรุนแรง เป็นผู้ป่วยชายไทย อายุ 52 ปี มีภูมิลำเนาในพื้นที่ อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา อาชีพ รปภ.แห่งหนึ่ง จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 23 พ.ค. เวลา 09.00 น. เดินทางเข้าฉีดวัคซีนที่ โรงพยาบาลถลาง จ.ภูเก็ต ขณะฉีดปกติดี ขณะก่อนขับขี่จักรยานยนต์กลับบ้าน สตาร์ทรถจักรยานยนต์รู้สึกขาซ้ายไม่มีแรง จึงใช้ขาขวาช่วยสตาร์ท สามารถขับขี่กลับถึงบ้านในพื้นที่ อ.ตะกั่วทุ่ง ถึงบ้านรู้สึกปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ แขน ขา อ่อนแรงเพิ่มขึ้น หยิบจับสิ่งของตก กระทั่งวันที่ 24 พ.ค.64 ช่วงเช้า รู้สึกอ่อนแรงขาด้านซ้ายเดินไม่ถนัด เริ่มชาที่ใบหน้า พูดไม่ชัด ปวดศีรษะมากขึ้น หัวหน้างานจึงส่งโรงพยาบาลถลาง มีอาการขาซ้ายอ่อนแรงแพทย์วินิจฉัย หลอดเลือดสมองตีบ จึงส่งต่อ โรงพยาบาลพังงาตามสิทธิ์ผู้ป่วย ต่อมา อายุรแพทย์ โรงพยาบาลพังงา ตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ เบื้องต้นผู้ป่วยมีประวัติปัจจัยเสี่ยง และส่งตรวจร่างกายมีอาการเข้ากับหลอดเลือดสมองตีบ ให้การรักษาด้วยยา สารน้ำ จากนี้เตรียมติดต่อส่งตัวเพื่อตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง ที่ โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี
จากเหตุดังกล่าว ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพังงา ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ทั้งคู่มีประวัติโรคประจำตัว อาจจะเกิดอาการในช่วงหลังที่ให้บริการฉีดวัคซีนขึ้นมาได้ หรือ อาจจะเกิดจากผลข้างเคียงของวัคซีนโควิด ซึ่งได้ประสานทางคณะกรรมการวัคซีนส่วนกลางเข้าสอบสวน เพื่อดำเนินการค้นหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป
ด้าน แพทย์หญิงทิพยรัตน์ ต้นสกุลประเสริฐ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพังงา กล่าวว่า รายผู้เสียชีวิต หลังจากฉีดวัคซีน ที่ภูเก็ต กลับมาพักบ้านที่พังงา ญาติให้ประวัติว่า มีไข้ต่ำๆซื้อยามากินเอง จนช่วงเช้าวันที่ 24 พ.ค.64 มีอาการชาแปล๊บๆที่ใบหน้า มีไข้ต่ำๆ ช่วงกลางคืน มีอาการเจ็บหน้าอก และหมดสติที่บ้าน ในช่วงเวลา 01.30 น. ของวันที่ 25 พ.ค.64 จึงเข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลพังงา แรกรับผู้ป่วยมีอาการตัวเขียวคล้ำ ไม่มีชีพจร ทีมแพทย์จึงปั้มนวดหัวใจตามแนวทางการรักษา 40 นาที พบว่า ไม่มีชีพจร แพทย์ที่รักษาลงความเห็นพร้อมกับ อายุรแพทย์ วินิจฉัยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันรุนแรง
ทีมแพทย์ชันสูตรแนะนำส่งชันสูตรพลิกศพที่ ศูนย์วิทยาศาสตร์ จ.สุราษฎร์ธานี ตามแนวทาง แต่ทางญาติปฏิเสธไม่ประสงค์ชันสูตร เนื่องจากต้องทำพิธีฝังศพตามศาสนาอิสลามโดยเร่งด่วน จึงประสานกรมควบคุมโรคเก็บสิ่งส่งตรวจจากผู้เสียชีวิตรายนี้ และส่งข้อมูลผู้เสียชีวิตเข้าสู่คณะกรรมการวัคซีนส่วนกลางเพื่อวินิจฉัย เบื้องต้นพบประวัติว่ามีไขมันเลว 231 ซึ่งเป็นค่าไขมันเลวไม่ควรเกิน 130 เท่านั้น จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้
ส่วน นายแพทย์พีรวิชญ์ ปิ่นพิทักษ์ แพทย์อายุรศาสตร์ โรงพยาบาลพังงา กล่าวว่า ผู้ป่วยรายที่ 2 พบว่ามีประวัติความดันโลหิตสูง เข้ารับการรักษาที่ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาไม่เคยขาดยา แต่พบว่ามีการขาดนัดพบแพทย์ประจำตัว จนกระทั่งเข้ารับการฉีดวัคซีนที่ โรงพยาบาลถลาง เกิดอาการแขนขาอ่อนแรง และพบอาการ หลอดเลือดสมองตีบ ล่าสุดผู้ป่วยสามารถพูดจาได้ ทางโรงพยาบาลพังงาเตรียมส่งตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง ที่ โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี และส่งข้อมูลผู้ป่วยเข้าสู่คณะกรรมการวัคซีนส่วนกลางตามแนวทาง เพื่อวินิจฉัยต่อไป
ขอบคุณ pptvhd36/ไทยรัฐ