ครูมืด ประสาท ทองอร่าม ปรมาจารย์แห่งนาฏยสังคีตไทย เสียชีวิตแล้ว ในวัย 72 ปี

อาลัยครูมืด ประสาท ทองอร่าม ปรมาจารย์ด้านวัฒนธรรม ศิลปินด้านศิลปะวัฒนธรรมไทย ซึ่งมีประสบการณ์เป็นครูโขนมากว่า 50 ปี เสียชีวิตแล้วในวัย 72 ปี 

 

 

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา กรมศิลปากร โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเสียใจต่อการจากไปของ ครูมืด – ประสาท ทองอร่าม ปรมาจารย์แห่งการนาฏยสังคีตไทย

 

บันเทิง - 'ครูมืด' ประสาท ทองอร่าม ครูโขน ปรมาจารย์วัฒนธรรมไทย เสียชีวิตแล้ว

 

สอดคล้องกับที่ ศิลปินอาวุโส สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ได้โพสต์แสดงความอาลัยครูมืด ว่า “จะเจอแบบนี้กันสักกี่คน คนที่รักเรา สอนเรา เตือนเรา ด้วยความหวังดีมาโดยตลอด บอกตรงๆผมใจหายมากกกก เมื่อทราบว่าป๋ามืดได้เดินทางกลับไปสู่สวรรค์ เป็นคนธรรพ์เหมือนเดิมแล้ว

ฝากเพียงตำนานอีกหน้าหนึ่งของศิลปินกรมศิลปากร ที่เต้นกิน รำกิน ร้องกิน เลี้ยงชีวิตมาบนโลกใบนี้ได้ อย่างไม่อายใคร

 

ผมขอให้ดวงจิตดวงวิญญาณของป๋ามืด จงไปสู่ภพภูมิที่ดี ชาตินี้แม้ท่านไม่ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ แต่ท่านจะเป็น ศิลปินแห่งรัตนโกสินทร์ ในใจผมตลอดไป

 

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ครูมืด เสียชีวิต ในวัย 72 ปี ด้วยโรคมะเร็งปอด หลังรักษาตัวมาพักใหญ่

 

 

ครูมืด เป็นปรมาจารย์ด้านวัฒนธรรม ศิลปินด้านศิลปะวัฒนธรรมไทย ซึ่งมีประสบการณ์เป็นครูโขนมากว่า 50 ปี ซึ่งมีผลงานฝากไว้แก่วงการบันเทิงและศิลปะไทยอันทรงคุณค่าไว้มากมาย นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติด้านดนตรี และ ศิลปิน ประจำปี 2563 สาขา บุคคลต้นแบบผู้ทรงคุณวุฒิ ทางด้านดนตรีและศิลปะการแสดง โดย หออัครศิลปิน Hall Of Jazz ด้วย

 

สำหรับ ครูมืด เป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดีในหลายรายการบนหน้าจอโทรทัศน์ ทั้งยังมีผลงานโด่งดังในด้านการเป็นครูโขน ซึ่งมีลูกศิษย์ลูกหามากมายทั้งลูกศิษย์โดยตรงและทางอ้อม

 

เมื่อปีที่ผ่านมาครูมืดได้เปิดใจ เล่าเรื่องราวชีวิต จากเด็กสลัมสู่ปรมาจารย์ด้านวัฒนธรรม ว่าชีวิตเคยลำบากถึงขนาดต้องขอข้าววัดกิน บ้านที่อยู่หลังคาติดกันหมด เป็นบ้านที่เช่าเขาอยู่ อาศัยอยู่ข้างวัด แต่บังเอิญถิ่นที่ตนอยู่ถึงแม้จะห่างไกลความเจริญ แต่คนที่อยู่เป็นบุคคลทรงความรู้ และศิลปินแห่งชาติเยอะมาก จึงมีโอกาสเข้าไปเรียนดนตรีนาฏศิลป์ ซึ่งเริ่มจากการที่คุณปู่เป็นนักดนตรีไทย

 

“คุณปู่ผมท่านเป็นนักดนตรีไทย ท่านเป็นลูกศิษย์ของ คุณครูไพร หลวงประดิษฐ์ ไพเราะ ก็เอาผมติดตัวไปด้วย แล้วที่วัดก็เป็นศูนย์รวมของศิลป์หลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นโขน ลิเก ละคร ปี่พาทย์ ก็รวมตัวกันอยู่ที่นั่น ก็มีข้าวกิน บ้านเราจน เราก็อาศัยข้าววัดกิน เราก็ได้ดูโขน ดูลิเก ดูดนตรี ดูอะไรต่างๆ แล้วมันชอบ แล้วพอกลับมาก็เอาเรื่องเหล่านั้นมาเล่นกับเด็กๆ พอจบ เรียนชั้นประถม 5 ปี ชั้นมูล คือก่อน ป.1 ก็เป็นผู้นำมาตลอด นำร่องเพลงชาติ เป็นนักกิจกรรม” ครูมืดกล่าว

 

ด้วยเหตุนี้ ครูมืด จึงได้รับการถ่ายทอดวิชานาฏศิลป์ไทยทุกแขนงมาตั้งแต่ยังเด็ก เนื่องจากในอดีต วัดพระพิเรนท์ ถือเป็นแหล่งรวมศิลปะการแสดงของไทยทุกแขนง ทั้งโขน ละคร ปี่พาทย์ จำอวด และการแสดงลิเก

 

เมื่อจบการศึกษาระดับประถมศึกษา ครูมืดเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนาฏศิลป์ (ปัจจุบัน คือ วิทยาลัยนาฏศิลป) ในสาขาดุริยางค์ไทย ในขณะที่ศึกษาอยู่ที่โรงเรียนนาฏศิลป์นั้น ครูมืด ได้รับการคัดเลือกเป็นนักเรียนในพระอุปถัมภ์ ของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร ซึ่งมีดำริให้คัดเลือกเด็กนักเรียน มาทำการฝึกหัดนาฏศิลป์ไทยทุกแขนง ทั้งการเรียนโขน ลิเก สวด แหล่ เห่ กล่อม การพากษ์โขนละคร รวมทั้งการแสดงจำอวด โดยมีอาจารย์เสรี หวังในธรรม บรมครูด้านนาฏศิลป์ไทยเป็นผู้ดูแลและถ่ายทอดวิชาความรู้

 

ทำให้ครูมืดได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้ในศาสตร์แห่งนาฏศิลป์ไทยจากอาจารย์เสรี หวังในธรรม และได้รับการยอมรับว่าเป็นศิษย์เอกคนสำคัญของอาจารย์เสรี หวังในธรรม

 

ครูมืด เริ่มเข้ารับราชการที่สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ในตำแหน่งศิลปินสำรอง ทำให้มีโอกาสร่วมงานกับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะการแสดงโขนหลายท่าน อาทิ อาจารย์เสรี หวังในธรรม อาจารย์ยอแสง ภักดีเทวา และอาจารย์เจริญ เวชเกษม

 

และที่นี่เองทำให้ครูมืดได้สั่งสมความรู้และประสบการณ์ในการแสดงโขน รวมทั้งเติบโตในตำแหน่งทางราชการ จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ ในตำแหน่งหัวหน้างานกลุ่มวิจัยพัฒนางานและการแสดง สำนักการสังคีต กรมศิลปากร

 

ปัจจุบัน ครูมืดได้รับเกียรติจากกรมศิลปากร ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมไทย มีหน้าที่ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมไทยทุกแขนง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงโขน

 

อย่างไรก็ตาม ครูมือ เปิดใจทิ้งท้ายถึงแพลนหลังเกษียณเอาไว้ด้วยว่า

 

“หลังจากเกษียณอายุแล้ว ก็จะตั้งใจอยู่กับพี่น้อง ครอบครัว แล้วก็ทำอะไรให้กับสังคม ทำอะไรให้กับโรงเรียนนาฏศิลป์ ทำอะไรให้กับกรมศิลปากรมากยิ่งขึ้น”

 

 

ขอบคุณ มติชน