การท่องเที่ยวแนวใหม่ ขึ้นบินแต่ไม่ไปไหน

หลังจากวิกฤติไวรัสระบาด ก็ส่งผลกระทบสู่วงกว้าง หนึ่งในนั้นคือธุรกิจการบินที่ต้องพักยาวกันเลย แต่ทุกวิฤตย่อมมีโอกาสหากเรามีความมุมานะ และไม่ย้อท้อ

ล่าสุดหลายสายการบินเปิดเที่ยวบินเส้นทาง “วงกลม” ขึ้นเครื่องและลงจอดที่สนามบินเดิม ให้คนในประเทศดื่มด่ำกับชะโงกทัวร์บนน่านฟ้า คลายความคิดถึงวิวมุมสูงและการนั่งเครื่องบิน เที่ยวบินพิเศษ” ที่ว่านี้ เรียกกันว่า “Flights to nowhere” ความหมายคือ “ไม่ได้บินไปไหน” เพราะว่าขึ้นบินที่ไหนก็วนกลับมาลงจอดที่เดิม

การบินชมวิวทิวทัศน์โดยไม่ลงจอด…ไม่ใช่ไอเดียใหม่แต่อย่างใด มันเคยเกิดขึ้นมาแล้วตั้งแต่ 43 ปีก่อน โดยสายการบิน “แอร์ นิวซีแลนด์” (Air Newzealand) และสายการบิน “แควนตัส” (Qantas) ของออสเตรเลีย เมื่อ 43 ปี ก่อน 

สายการบินแรกที่ขึ้นบิน คือ “สตาร์ลักซ์ แอร์ไลน์” (Starlux Airline) น้องใหม่ที่เพิ่งจะเปิดบินพาณิชย์อย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม 2020 แต่ก็ต้องถูกพักยาวหลังจากนั้นไม่กี่เดือนเพราะโรคระบาดที่ปะทุไปทั่วโลก ถึงอย่างนั้นสายการบินสตาร์ลักซ์ก็คิดแผนขึ้นบินอีกครั้ง โดยใช้เครื่องบินลำใหม่อายุไม่ถึง 1 ปี รุ่นแอร์บัส เอ321 นีโอ จัดเที่ยวบินพิเศษออกจากสนามบินนานาชาติเถาหยวน ไทเป เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ระยะเวลาเดินทาง 3 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งจะลดระดับความสูงลงตามแนวชายฝั่งเกาะไต้หวันและสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง เพื่อให้ผู้โดยสารได้ถ่ายภาพมุมสูงของเมือง และที่พิเศษไปกว่านั้น เที่ยวบินแรกนี้ มี Chang-Kuo-Wei ประธานบริหารของสายการบินสตาร์ลักซ์ ทำหน้าที่เป็นนักบินและหัวหน้าทัวร์ที่คอยแนะนำสถานที่ที่บินผ่าน

และอีกสายการบินสัญชาติเดียวกัน “เอวาร์ แอร์” (EVA AIR) ก็จัดเที่ยวบินพิเศษในเวลาไล่เลี่ยกัน เพื่อเฉลิมฉลองวันพ่อแห่งชาติของไต้หวัน (8 ส.ค.) โดยใช้เครื่องบินลายการ์ตูนซานริโอ (SANRIO) หรือตัวการ์ตูนดังที่หลายคนรู้จัก “เฮลโล คิตตี้” (Hello Kitty) ด้วยเครื่องบินรุ่นแอร์บัส เอ330-300 ดรีมเจ็ต

 

กระแสตอบรับของการท่องเที่ยวบินวนกลับนี้ เรียกว่า “ดีเกินคาด!” เกิดปรากฏการณ์ขายตั๋วหมดภายในไม่กี่นาที จนทั้ง 2 สายการบิน มีแผนจะจัดเที่ยวบินแบบนี้เพิ่มขึ้นจนถึงสิ้นปี อีกทั้งยังมีสายการบินสัญชาติอื่นๆ เข้ามาร่วมแจม โดยใช้ชื่อเรียกอื่นๆ เช่น เที่ยวบินชมทิวทัศน์ หรือภัตตาคารบนฟ้า

สำหรับจุดขายของเที่ยวบินแบบ Flights to nowhere คือ มีการบริการบนเครื่องบินที่พิเศษกว่าปกติ อาทิ ฟรี Wifi, ความบันเทิงครบครันทั้งดูหนังฟังเพลง, เสิร์ฟอาหารฝีมือเชฟดีกรีมิชลินสตาร์, ช็อปปิ้งปลอดภาษี (Duty Free) และรับของที่ระลึกจากเที่ยวบิน

กลับมาที่ “แควนตัส” สายการบินสัญชาติออสเตรเลีย ที่ได้เลือกใช้เครื่องบินรุ่นโบอิ้ง 787 ดรีมไลเนอร์ หน้าต่างกว้างที่สุดที่เคยมีการผลิตมาในอุตสาหกรรม เมื่อบินผ่านแลนด์มาร์กสำคัญอย่าง เกรตแบริเออร์รีฟ และโขดหินอุลูรู จะมีการลดระดับความสูงลงเหลือ 4,000 ฟุต เพื่อให้ผู้โดยสารมองเห็นวิวได้ชัดเจนยิ่งขึ้น สามารถชะโงกดูวิวจากบนฟ้าเหมือนได้ขึ้นเครื่องบินส่วนตัวนำเที่ยว เป็นประสบการณ์ท่องเที่ยวในประเทศอีกรูปแบบหนึ่งที่ทำให้มีผู้คนสนใจจำนวนมากเลยทีเดียว โดยราคาตั๋วเริ่มต้นที่ 17,000-84,000 บาท

ในขณะที่ สายการบินญี่ปุ่น “ออล์ นิปปอน แอร์เวย์” (ANA) เลือกใช้เครื่องบินรุ่นแอร์บัส เอสอี เอ380 เครื่องบิน 2 ชั้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้มากที่สุดถึง 800 คน เปิดขายตั๋วชั้นประหยัดราคา 8,300 บาท และเฟิร์สคลาส 20,000 บาท ซึ่งปกติแล้ว เครื่องบินลำนี้จะมีเส้นทางหลักบินไปโฮโนลูลู เมืองหลวงของฮาวาย ดังนั้น ตลอดทริปพิเศษนี้จึงมีการสร้างบรรยากาศที่เหมือนกับฮาวาย และยังเปิดขายของที่ระลึกร่วมธีม

รวมทั้งสายการบินอย่าง “รอยัล บรูไน” ที่นำเสนอแคมเปญภัตตาคารบนฟ้า พร้อมเสิร์ฟอาหารฝีมือเชฟมิชลินสตาร์ขณะบินวนชมน่านฟ้าของบรูไน มีราคาเริ่มต้นที่ 3,500-4,600 บาท และสายการบินราคาประหยัดของ “ไทเกอร์แอร์” ไต้หวัน ที่มีเส้นทางบินผ่านเกาะเชจู แต่ที่พิเศษกว่านั้น คือ ตั๋วบินครั้งนี้รวมราคาเที่ยวบินไป-กลับ ไต้หวัน-เกาหลีใต้ ที่มีอายุ 1 ปี หลังจากที่มีการประกาศเปิดประเทศอีกด้วย รวมแล้วราคา 7,500 บาท

แต่ถึงจะมีการจัดเที่ยวบิน “ไม่ได้ไปไหน” แต่ทุกสายการบินยังต้องรักษามาตรการการป้องกันตัวเอง เพื่อลดการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเครื่องบินจะมีการทำความสะอาดใหม่ทั้งลำ ผู้โดยสารและลูกเรือสวมหน้ากากอนามัย และต้องเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้ที่นั่งตรงกลางต้องว่างเปล่า

 

ขอบคุณ ไทยรัฐ