สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ( อย.) เตรียมเรียกพิมรี่พาย แม่ค้าออนไลน์ชื่อดังเข้าพบ กรณีการขายสินค้าแถมชุดตรวจ ATK เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ แม้จะไม่ใช่การจำหน่าย แต่เป็นการแจกหรือแถม ก็เข้าข่ายความผิด ตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์
เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ ตามกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ส่วนใหญ่ รวมถึง พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ จะถือว่าการจำหน่าย จ่าย แจก มีความหมายเท่ากับเป็นการขายทั้งหมด ไม่เช่นนั้น คนจะเอาเหตุผลนี้ไปทำการแจกแถม เพราะผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ต้องมีการระมัดระวัง ในส่วนของชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) นั้น
1.อย.อนุญาตให้มีการขายในร้านขายยา คลินิก สถานพยาบาล เท่านั้น
2.การโฆษณาต้องมีการขออนุญาตจาก อย.ก่อน ถึงแม้จะเป็นคนที่สามารถโฆษณาขายได้ เช่น ร้านขายยาจะขายผ่านออนไลน์ก็ต้องมาขออนุญาตว่าจะโฆษณาด้วยคำพูดอย่างไร ที่ไม่มีการพูดเกินจริง ทั้งนี้ เหมือนกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ จะโฆษณาก็ต้องขออนุญาตเช่นกัน
“สำหรับกรณีพิมรี่พายนั้น 1.เป็นการขายโดยบุคคลที่ อย.ไม่อนุญาตให้ขาย 2.โฆษณาด้วยการออกสื่อเช่นนี้ เป็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ ต้องขออนุญาตก่อน แต่ก็ไม่ได้ขออนุญาต และ 3.ผลิตภัณฑ์ที่นำมาขายนั้น เท่าที่ดูเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อย. ซึ่งจากกรณีทั้งหมดนี้ ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย มีโทษตั้งแต่เบาไปหาหนัก สูงสุดคือ จำคุก 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท ดังนั้น จากนี้ อย.จะมีการส่งหนังสือเตือนไปยังพิมรี่พาย และให้เข้ามาพูดคุยกัน ซึ่งจะต้องดูเจตนาด้วยว่ามีเจตนาหรือไม่ หรือทำเพราะไม่รู้ว่าผิด เพราะบางคนที่ อย.เตือนไปแล้ว ก็เข้าใจ” นพ.สุรโชคกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีการค้าขายผลิตภัณฑ์สุขภาพออนไลน์จำนวนมาก บางคนมองว่าแค่ขายของ ทำมาหากินจะอะไรกันนักกันหนา นพ.สุรโชคกล่าวว่า ขอย้ำว่า อย.ไม่ได้ห้ามเรื่องการโฆษณา สามารถโฆษณาได้ ก็เห็นตัวอย่างอยู่ แต่ อย.ไม่ได้อนุญาตให้ทุกผลิตภัณฑ์ ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่เสี่ยง หรือเสี่ยงไม่มาก ประชาชนสามารถซื้อหามาใช้ได้ เช่น ยาสามัญประจำบ้าน ก็ให้โฆษณาได้ ถ้าเป็นยาอันตราย หรือยาควบคุมพิเศษก็ไม่อนุญาตให้โฆษณา แม้แต่อาหาร ถ้าเป็นอาหารทางการแพทย์ก็ไม่ได้อนุญาตให้มีการโฆษณาขาย แต่โฆษณาเฉพาะกับบุคคลบางอย่างได้ อย่างไรก็ตาม ในผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่ อย.อนุญาตให้ทำการโฆษณาได้ ก็ต้องมาขออนุญาตโฆษณา เพื่อให้ อย.ดูเรื่องข้อความการสื่อสารถึงประชาชนไม่มีการโอเวอร์เคลม หรือกล่าวเกินจริง
ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ได้เห็นข้อมูลดังกล่าวแล้ว ต้องไปดูว่าน้ำที่นำมาขายนั้นเป็นน้ำเปล่าบรรจุขวด หรือว่าเป็นน้ำแร่บรรจุขวด ซึ่งผู้ขายอาจไม่ทราบว่า กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) มีกฎหมายควบคุมราคาน้ำดื่มบรรจุขวดขนาด 500-600 ซีซี จำหน่ายไม่เกินขวดละ 7 บาท และขนาด 1,500 ซีซี จำหน่ายไม่เกินขวดละ 14 บาท แต่หากเป็นน้ำแร่จริงในส่วนนี้ไม่มีการควบคุมราคา เพียงแต่ว่าต้องขายในราคาที่เหมาะสม แต่ไม่สามารถกำกับราคาได้จริง เลยมีออกมาในลักษณะตามร้านอาหารที่เพิ่มราคาด้วยการแช่เย็น หรือเปลี่ยนไปขายน้ำแร่ที่ไม่มีการควบคุมราคาแทน
“หากไม่ใช่น้ำแร่ แล้วมาขายขวดละ 120 บาท คือผิดอยู่แล้ว พณ.จัดการได้ นี่เป็นการใช้เทคนิคที่มีการห้ามขายชุดตรวจเอทีเค เพราะต้องขายในร้ายยา เขาจึงอาศัยเทคนิค ไม่ขายแต่เอามาแถมซึ่งเป็นการตลาดทั่วไป แต่หากจะผิดกฎหมายก็ต้องไปดูน้ำที่ขายว่าเกินราคาหรือไม่ ก็คงเป็นไปไม่ได้ที่จะนำน้ำแร่มาขายในราคานี้” น.ส.สารีกล่าว และว่า แพลตฟอร์มที่มีการขายต้องรับผิดชอบ เพราะจริงๆ คนขายก็อยากขายชุดตรวจเอทีเค แต่ก็ไม่ควรจะมีการนำมาขายน้ำแล้วแถมชุดตรวจ นี่เป็นวิธีหลีกเลี่ยงชัดเจน ดังนั้น แพลตฟอร์มต้องเอาลง หรือบอยคอต (Boycott) การขาย เพราะเป็นการกระทำผิดกฎหมาย
น.ส.สารีกล่าวว่า สิ่งที่สะท้อนคือ คนมีความต้องการชุดตรวจเอทีเคมาก ดังนั้น หากต้องการแก้ไขปัญหาคนนำมาขายแบบนี้ รัฐบาลต้องรีบนำเข้าชุดตรวจที่มีคุณภาพสูงสุด รีบกระจายไปให้กลุ่มเสี่ยง และประชาชนมีความมั่นใจที่จะใช้ เพื่อที่ประชาชนไม่ต้องไปหาซื้อกันเอง ปัญหาเช่นนี้จะลดลง
เมื่อถามว่า หากเป็นน้ำเปล่าธรรมดา แต่อ้างว่าเป็นน้ำแร่ มีความผิดหรือไม่ น.ส.สารีกล่าวว่า ต้องมีการตรวจสอบ หากเป็นน้ำธรรมดา แต่บอกว่าเป็นน้ำแร่ก็ผิดหลายกระทง
เมื่อถามต่อว่า หากเป็นการขายน้ำแล้วแถมชุดตรวจเอทีเค สามารถทำได้หรือไม่ น.ส.สารีกล่าวว่า จริงๆ แล้ว ก็เป็นยุทธศาสตร์การขาย ส่วนจะแถมชุดตรวจเอทีเคได้หรือไม่ ต้องไปดูกฎหมายควบคุมเครื่องมือแพทย์ว่า นำมาแถมได้หรือไม่ เพราะจริงๆ แล้วหากเป็นยา เอามาแจกฟรี ก็ยังไม่สามารถทำได้
ขอบคุณ มติชน/kapook.com/ข่าวสด