ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของมนุษย์ที่สามารถส่งยานไปดาวเคราะห์น้อย และเก็บตัวอย่างหินกลับสู่โลกได้สำเร็จ
เมื่อวันที่ 21 ต.ค. เว็บไซต์ขององค์การบริหารการบินอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือนาซา เปิดเผยว่า ยาน “โอซิริส-เร็กซ์” (Osiris-Rex) ประสบความสำเร็จในภารกิจการไปลงแตะพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อยเบนนู (Bennu) เพื่อที่จะใช้อุปกรณ์ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ หยิบตัวอย่างหินบนพื้นผิวน้ำหนักประมาณอย่างน้อย 60 กรัม ถึง 1 กิโลกรัม แล้วทะยานขึ้นจากพื้นผิว ก่อนเดินทางกลับมายังโลก
นาซาระบุว่า สัญญาณคลื่นวิทยุที่ห่างออกไป 330 ล้านกิโลเมตร ยืนยันว่ายานโอซิริส-เร็กซ์ ได้ทำการแตะพื้นผิวดาวเคราะห์น้อยเบนนู บริเวณตอนเหนือของดาวที่เรียกว่า “ไนติงเกล” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และตอนนี้เจ้าหน้าที่ยังรอข้อมูลเพิ่มเติมว่าอุปกรณ์ของยานได้มีการหยิบตัวอย่างหินบนพื้นผิวขึ้นมาเรียบร้อยหรือไม่
โดยยานโอซิริส-เร็กซ์ ติดตั้งแขนกลเก็บตัวอย่างที่เรียกว่า “แท็ก-แซม” (Touch-and-Go Sample Acquisition Mechanism-Tag-Sam) ซึ่งจะยืดลงไปเก็บตัวอย่างหินตรงโซนเป้าหมายความกว้าง 8 เมตร รวมไปถึงพื้นที่ภูเขาดูม ที่มีความสูงเท่ากับตึก 2 ชั้น ซึ่งเป็นภารกิจอีกขั้นที่จะใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงครึ่ง
นักวิทยาศาสตร์ของนาซาเปิดเผยว่า ดาวเคราะห์น้อยเบนนู ที่มีความกว้างประมาณ 510 เมตร เป็นวัตถุทางดาราศาสตร์ในยุคแรกเริ่ม โดยเชื่อว่าพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อยเบนนู ที่ประกอบไปด้วยหินและฝุ่น กำความลับที่น่าสนใจเกี่ยวกับระบบสุริยะในยุคแรกเริ่มเมื่อประมาณ 4,500 ล้านปีก่อน
โดยหลังจากภารกิจแตะดาวเคราะห์นี้ ยานโอซิริส-เร็กซ์ ซึ่งบินไปโคจรรอบดาวเคราะห์น้อยเบนนูตั้งแต่ปี 2561 จะกลับไปโคจรรอบดาวเคราะห์ต่อไปจนถึงปีหน้า และจะมุ่งหน้ามายังโลกในปี 2566.
ขอบคุณ ไทยรัฐ, NASA, BBC