ผ่าชันสูตรพลายขนุน พบหัวกระสุนทั่วตัว

เสียชีวิตแล้ว พลายขนุน ช้างป่ากุยบุรี หลังจากที่นอนบาดเจ็บมาแรมเดือน เจ้าหน้าที่ผ่าชันสูตรพบหัวกระสุนทั่วร่าง ยิงใต้เบ้าตา ด้านเจ้าหน้าที่เร่งสืบหาตัวคนยิง

 

พลายขนุน” อาการน่าเป็นห่วงแผลเน่าไม่ยอมยืน

 

วันที่ 10 มกราคม 2564 นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (สบอ.3) สาขาเพชรบุรี ได้รับรายงานจาก น.ส.สุพร พลพันธ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ถึงอาการ “พลายขนุน” ช้างป่าอายุประมาณ 20-25 ปี น้ำหนักประมาณ 3,000 กิโลกรัม ที่บาดเจ็บบริเวณขาพับในข้างขวา และมีอาการบวม ตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2563 ซึ่งทีมสัตวแพทย์ประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยทราย อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ได้ช่วยกันรักษาช้างอย่างต่อเนื่อง จนช้างสามารถเดินได้ไกล ก่อนนอนฟุบนิ่งใกล้แอ่งน้ำ หมู่ 4 บ้านท่าวังหิน ต.เขาจ้าว อ.ปราณบุรี จ.ประจวบฯ และไม่ยอมลุกขึ้นเดินอีกเลย

 

ทั้งนี้ ทีมสัตวแพทย์ลงความเห็นว่าให้เคลื่อนย้ายช้างไปรักษายังที่ทำการอุทยานแห่งชาติกุยบุรี เพื่อความสะดวกในการดูแลช้างตัวดังกล่าว แต่ขณะทำการเคลื่อนย้าย ช้างป่ามีอาการหัวใจหยุดเต้น เจ้าหน้าที่ได้ช่วยปั๊มหัวใจ แต่ช้างสิ้นใจตายในเวลาต่อมา
 

จากนั้นได้ประสาน ร.ต.อ.ยงยุทธ โชติชนะเสรี ชุดเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด ตชด.ที่ 14 ค่ายพระมงกุฎเกล้า นำเจ้าหน้าที่ใช้เครื่องสแกนโลหะตรวจหาโลหะตามตัวช้าง พบโลหะทั้งหมด 25 จุด ก่อนให้สัตวแพทย์ทำการผ่าออกมา ดังนี้

 

พบกระสุนปืนลูกซอง เบอร์ 12 ขนาด 9 จำนวน 40 เม็ด ลูกกระสุนปืน ขนาด .22 จำนวน 2 เม็ด และลูกปราย จำนวน 1 เม็ด และพบตรงจุดสำคัญบริเวณใต้เบ้าตา 2 ลูก ซึ่งเป็นเหตุทำให้ตาขวามีอาการอักเสบ มองไม่เห็น มีลักษณะเป็นฝ้าขาว

 

 

ส่วนขาหน้าด้านซ้าย พบกระสุนในกระดูก 3 เม็ด มีหนองในข้อกระดูกจำนวนมาก พบกระสุนทะลุซี่โครง ซี่ที่ 7 และซี่ที่ 9 จำนวน 2 เม็ด และกระสุนอีก 38 เม็ด กระจายอยู่ทั่วบริเวณงวง ใต้รักแร้ และลำตัว

 

ขณะที่ สภาพอวัยวะภายใน ปอดมีอาการอักเสบบวมแดง ไตบวม สีซีด ตับซีด มีจุดเลือดออก และมีรอยแผลเป็น หัวใจพบจุดเลือดออก ผนังทางเดินอาหารหลุดลอก พบจุดเลือดออกอักเสบแดงและแผลหลุมในกระเพาะอาหาร ขาหน้าขวาบวมแดง พบหนองด้านใน

 

ผลการชันสูตรสันนิษฐานสาเหตุการตายว่า จากพยาธิสภาพที่พบดังกล่าว ทำให้อวัยวะภายในล้มเหลว ซึ่งสัมพันธ์กับผลค่าโลหิตวิทยาที่ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบว่ามีค่าเม็ดเลือดแดง ค่าเม็ดเลือดขาว ค่าตับ และค่าไตผิดปกติ จึงเป็นสาเหตุทำให้ “พลายขนุน” ตายดังกล่าว

 

นายพิชัย กล่าวว่า ตลอดระเวลา 1 เดือน เจ้าหน้าที่อุทยานฯและทีมสัตวแพทย์ได้ติดตามรักษาช้างบาดเจ็บอย่างเต็มที่ ตลอดทั้งวันทั้งคืนจนเสียชีวิต จากการพิจารณาพฤติกรรมของช้างตัวป่าตัวนี้มีนิสัยดุร้าย คาดว่าเกิดจากการโดนขับไล่ หรือถูกไล่ยิงจากคนบ่อยครั้ง ทำให้ช้างป่ามีพฤติกรรมที่กลัวคนจะมาทำร้าย จนเกิดอาการดุร้ายเพื่อป้องกันตัวเอง และเคยทำร้ายเจ้าหน้าที่ชุดเฝ้าระวังช้างป่าชุดที่ 3 และหัวหน้าจุดสกัดท่ากระทุ่นเสียชีวิต ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ติดตามอาการช้างป่าเจ็บ เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2563

 

เบื้องต้นทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องลงความเห็นว่า ให้ฝังกลบซากช้างในพื้นที่จุดเกิดเหตุ พร้อมนิมนต์พระสงฆ์มาสวดบังสุกุล และดำเนินการฝังกลบซากช้างตามหลักวิชาการ จากนั้นได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่อุทยานฯเข้าแจ้งความเพื่อสืบหาตัวคนยิงช้างต่อไป.



ขอบคุณไทยรัฐ