เป็นอีกเรื่องที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ เมื่อทวิตเตอร์ @RedSkullxxx แชร์เรื่องราวของหญิงสาวรายหนึ่ง ที่โพสต์ภาพหนังสือจากสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ แจ้งความผิดเกี่ยวกับรถยนต์ หลังมีผู้ร้องเรียนไปว่ารถของเธอล้อยางโผล่ออกนอกรถ หรือที่เรียกว่า ล้อล้น เข้าข่ายผิดกฎหมาย ทางสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่จึงทำหนังสือแจ้งให้ผู้ครอบครองนำรถไปตรวจสอบพร้อมชี้แจงข้อเท็จจริง และพิจารณาโทษตามกฎหมาย
โดยหญิงสาวโพสต์ข้อความตามหาคนที่ถ่ายรูปรถของตัวเองไปร้องเรียน ระบุว่า ” #ประกาศตามหาคนที่ถ่ายรูปรถ ผิดกฎหมายนะคะ ถึงคุณจะเอาไปร้องเรียนขนส่งหรืออะไรก็ตามแต่ อยากได้เงิน 500 เหรอคะ มาเอาค่ะ ทักแชทมา พร้อมขึ้นโรงพักด้วยกัน เราก็จะแจ้งข้อหาคุณ มีสิทธิ์อะไร มาถ่ายรถคนอื่นไปร้องเรียนคะ? มันล้น จนไปเหยียบตีนแม่คุณเหรอ #ประกาศตามหา #พร้อมดำเนินคดี (ล้นต้องบานกว่านี้ค่ะ บ้านกูไม่เรียกล้อล้น)”
ในส่วนของข้อกฎหมายกรณี “ล้อล้น” เพจ สายตรงกฎหมาย ได้เคยให้ข้อมูลไว้ว่า
ล้อล้นเท่าไร ถึงจะไม่ผิดกฎหมาย?
สำหรับคนที่ไปเปลี่ยนล้อมาแล้วล้อมันล้นออกมานอกตัวถังรถ ในส่วนนี้จะมีประเด็นทางกฎหมายที่อาจจะทำให้มีความผิด ดังนี้
1. รถที่จะจดทะเบียนได้ ขอบยางด้านนอกสุดต้องยื่นไม่เกินกว่าตัวถังรถ ถ้ามันยื่นเกินตัวถังรถ แสดงว่าคุณไปเปลี่ยนแปลงส่วนหนึ่งส่วนใดของรถ ซึ่งกฎหมายกำหนดว่า ห้ามมิให้เปลี่ยนแปลงส่วนใดส่วนหนึ่งให้ผิดไปจากรายการที่จดทะเบียนไว้และใช้รถนั้น หากฝ่าฝืนจะมีความผิดมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท (ข้อหาดัดแปลงสภาพรถ)
2. เมื่อจดทะเบียนแล้ว กฎหมายกำหนดว่า หากมีส่วนควบหรืออุปกรณ์ไม่ถูกต้อง ห้ามใช้รถนั้น กรณีนี้ เมื่อจดทะเบียนแล้ว แต่คุณไปเปลี่ยนแปลงจนมียางล้นตัวถัง ซึ่งไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงต้องห้ามใช้รถ หากเอามาใช้ก็ผิดกฎหมาย
3. กฎหมายที่เกี่ยวกับส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์เค้าบอกว่า บังโคลนที่ล้อทุกล้อจะต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่าขนาดของยางรถ ดังนั้น ถ้าล้อมันยื่นออกมานอกบังโคลน จึงเป็นเรื่องที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย เพราะใช้รถที่มีส่วนควบหรืออุปกรณ์ไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
4. การแต่งรถล้อล้น ยังเสี่ยงเป็นความผิดในข้อหา นำรถที่มีสภาพอาจเกิดอันตรายแก่ผู้ใช้หรือประชาชนมาใช้ในทางเดินรถ เพราะกรณีที่ล้อล้นตัวถังออกมา อาจทำให้ผู้ขับขี่กะระยะผิด หรือล้อไปเกี่ยวหรือไปชนรถคนอื่นได้ มีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท
อนึ่ง กรมการขนส่งทางบก ได้เปิดให้ประชาชนแจ้งเบาะแสพฤติการณ์การกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท และ รถส่วนบุคคลหากเป็นลักษณะความผิดเกี่ยวกับตัวรถตาม พ.ร.บ.รถยนต์ ปี 2522 เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมสร้างวินัยและความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ส่งผลให้เกิดความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนอย่างเป็นรูปธรรม โดยผู้แจ้งต้องมีหลักฐานเชิงประจักษ์ครบถ้วน เช่น ภาพหรือคลิปวิดีโอบันทึกการกระทำความผิดที่ชัดเจน วันเวลา สถานที่เกิดเหตุ รายละเอียดรถ ทะเบียนรถ และอื่นๆ ให้มากที่สุด เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามได้อย่างรวดเร็ว
กรมการขนส่งทางบกจึงออกระเบียบกรมการขนส่งทางบก ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายสินบนรางวัลและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป ให้ประชาชนสามารถส่งพฤติการณ์การกระทำความผิด ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งครอบคลุมการกระทำผิดของรถโดยสารสาธารณะประเภทต่างๆ ทุกประเภท โดยจะได้รับส่วนแบ่งค่าปรับ 50% หลังหักเงินนำส่งรายได้แผ่นดินแล้ว
ทั้งนี้ อัตราค่าปรับความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 กำหนดไว้ตั้งแต่ 500-5,000 บาท โดยอัตราค่าปรับนั้นขึ้นอยู่กับดุลพินิจ องค์ประกอบของพฤติการณ์และความรุนแรง การกระทำความผิดซ้ำซาก และความผิดนั้นส่งผลกระทบสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน
ขอบคุณ ข่าวสด/sanook.com