โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV ซึ่งเป็นโรคที่มีอาการคล้ายไข้หวัดแต่อาจก่อให้เกิดอาการรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบได้
ในช่วงปลายฝนต้นหนาว หนึ่งในโรคที่เป็นปัญหาสำคัญในวัยทารกและเด็กเล็กที่คุณพ่อคุณแม่คงเคยได้ยินกันบ่อยๆ ก็คือ “โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV” ซึ่งเป็นโรคที่มีอาการคล้ายไข้หวัด แต่อาจก่อให้เกิดอาการรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบได้
RSV หรือชื่อเต็มๆ ว่า Respiratory Syncytial Virus เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะในเด็กเล็ก เชื้อไวรัสนี้สามารถทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบได้เนื่องจากมักเกิดพยาธิสภาพในส่วนของหลอดลมเล็ก (bronchiole) และถุงลม (alveoli) ทำให้มีการสร้างสิ่งคัดหลั่ง เช่น เสมหะ ออกมาในปริมาณมาก และมีการหดตัวของหลอดลมเนื่องจากการบวมของเยื่อบุหลอดลมและทางเดินหายใจต่างๆ ส่งผลให้เด็กมีอาการหอบ เหนื่อย และหายใจลำบากได้อย่างรวดเร็ว เชื้อนี้ติดต่อกันได้โดยการสัมผัสใกล้ชิดกับสิ่งคัดหลั่งต่างๆ ของผู้ป่วย เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ
อาการของโรค RSV
อาการของโรคติดเชื้อไวรัส RSV บางอย่างอาจคล้ายกับอาการไข้หวัดธรรมดา เช่น ไข้ (ส่วนใหญ่ไข้ไม่สูงนัก) ไอ จาม แต่ก็มีอาการที่คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตและสงสัยว่าลูกอาจได้รับเชื้อไวรัส RSV เช่น
- หอบเหนื่อย
- หายใจเร็ว หายใจแรง
- หายใจครืดคราด
- ตัวเขียว
- มีเสียงหวีดในปอด (จากการที่เยื่อบุทางเดินหายใจบวมอักเสบและหลอดลมหดตัว)
- มีเสมหะมาก
- ไอโขลกๆ
แนวทางการรักษา
ในเด็กเล็กที่อ่อนแอมาก เช่น เด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด เด็กที่มีโรคหัวใจ โรคปอดและหอบหืดอยู่แล้ว อาจมีอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว โดยอาจมีอาการหยุดหายใจเป็นช่วงๆ หรือหายใจล้มเหลว จนต้องนำเข้า หอพยาบาลผู้ป่วยวิฤติ ICU และอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจด้วย การดำเนินโรคจะเป็นอยู่ 5-7 วัน บางรายในช่วง 1-2 วันแรกมีอาการไม่รุนแรง แต่ในช่วงวันที่ 3-5 ของโรคจะมีอาการรุนแรงมากสุด จากนั้นอาการจะทุเลาลง
ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคนี้โดยเฉพาะ โดยทั่วไปการรักษาจะเป็นไปตามอาการที่ป่วย รวมถึงการดูแลเรื่องการหายใจและเสมหะ เช่น ให้ยาแก้ไอละลายเสมหะ ยาขยายหลอดลม ยาลดไข้ หรือพ่นยา ตามแต่อาการของผู้ป่วย ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นได้ ในผู้ป่วยที่มีอาการเหนื่อย หายใจไม่ค่อยดี และเริ่มมีออกซิเจนในเลือดต่ำลง การรักษาจะเป็นในรูปแบบประคับประคอง เช่น ให้สารน้ำทางหลอดเลือด ให้ยาพ่นขยายหลอดลม เคาะปอด ดูดเสมหะ รวมถึงให้ออกซิเจน ส่วนในรายที่มีอาการหนักมาก อาจต้องใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจ โดยให้การดูแลในหอพยาบาลผู้ป่วยวิกฤติจนกว่าอาการจะดีขึ้น ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการหนักอาจมีการติดเชื้อแทรกซ้อนด้วยไวรัสชนิดอื่นๆ เช่น เชื้อไข้หวัดใหญ่ เชื้อมัยโคพลาสมา หรือเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ ร่วมด้วย ซึ่งแพทย์จะพิจารณาให้การรักษาที่ครอบคลุมการติดเชื้อเหล่านี้ตามความเหมาะสม
เป็นแล้วจะเป็นซ้ำอีกได้หรือไม่
สำหรับเชื้อไวรัส RSV มี 2 กลุ่มย่อย คือกลุ่ม A และ B ซึ่งมีความสัมพันธ์กันแต่ไม่ใช่ตัวเดียวกัน ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากการเจ็บป่วยครั้งแรกไม่สามารถป้องกันได้ แต่ถ้าเป็นซ้ำๆกันอาการจะไม่รุนแรงมากเท่ากับในครั้งแรก
การป้องกันโรค RSV
สำหรับการป้องกันโรคนี้ นอกเหนือจากการหมั่นล้างมือบ่อยๆ แล้ว คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกป่วยควรแยกเด็กออกจากเด็กปกติเพื่อป้องกันการไอจามแพร่เชื้อให้กับผู้คนที่อยู่รอบข้าง ถ้าลูกเริ่มเข้าเนิร์สเซอรีหรือโรงเรียน คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกหยุดเรียนอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์จนกว่าจะหายเป็นปกติอย่างไรก็ดี ในเด็กบางรายถึงแม้จะหายแล้วก็ยังอาจมีอาการไอต่อเนื่องไปเป็นเดือนได้
ขอบคุณแหล่งที่มาของรูปที่ใช้ประกอบบทความในครั้งนี้
ขอบคุณข้อมูลจาก นพ.ประสงค์ พฤกษานานนท์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในเด็ก ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์