ด้วยโลกที่กำลังเปลี่ยนไป เพราะการระบาดของโควิด-19 วิธีเว้นระยะห่างเพื่อป้องกันการระบาดโควิด-19 เป็นวิธีที่ใช้กันทั่วโลก แต่เมื่อประชาชนส่วนหนึ่งมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วย ด้วยโรคอื่นที่อาจไม่ใช่โควิดก็กังวลใจไม่สะดวกออกจากบ้าน โดยเฉพาะคนสูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ดังนั้นการหาหมอออนไลน์จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสำหรับช่วงเวลานี้ และวันนี้เราจึงใช้แอปพลิเคชันและเว็บไซต์หาหมอออนไลน์ ซึ่งเริ่มใช้ในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2562 โดยมีทั้งช่องทางฟรี และเสียค่าบริการเอง เป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วยที่ต้องการเข้าถึงแพทย์โดยไม่ต้องเดินทาง รูปแบบของการหาหมอออนไลน์ มีดังนี้
- แอปพลิเคชัน เก็บข้อมูลผู้ป่วย ก่อนพบแพทย์
- เว็บไซต์ จองเวลาพบแพทย์ และเปิดกล้องพูดคุยกับแพทย์
- ไลน์ ใช้ฟีเจอร์ VDO พูดคุยกับแพทย์
ผู้ป่วยที่ใช้แอปพลิเคชันหาหมอออนไลน์ยินดีที่จะเสียค่าบริการและเสียค่ายาจากแอปฯ หรือเว็บที่เชื่อถือได้มากกว่าฟีเจอร์ที่เปิดใช้งานฟรี เพราะมีความน่าเชื่อถือมากกว่า แต่หากต้องการชำระค่ายาที่ถูกลงก็มีบางแอปฯ หรือเว็บที่ให้บริการผู้ป่วยตามสิทธิเบิกประกันต่างๆ โดยผู้ให้บริการมีทั้งรูปแบบเอกชนและโรงพยาบาล ดังนี้
1. ศิริราชคอนเน็กต์ (Siriraj Connect)
ช่องทาง : แอปพลิเคชัน Siriraj Connect, LINE
ค่าใช้จ่าย : เบิกสิทธิ 30 บาท, ประกันสังคม, เบิกตรงได้
ผู้ป่วยต้องดาวน์โหลดแอปฯ Siriraj Connect แล้วกรอกข้อมูลส่วนตัว หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะโทรมานัดวันและเวลาพูดคุยกับแพทย์ผ่าน VDO Call
บริการพบแพทย์จากศิริราช จะต้องนัดหมายก่อน และใช้วิธีพูดคุยผ่าน VDO ในแอปฯไลน์ได้ จึงสะดวกต่อผู้ใช้งานทุกท่านที่มีแอปฯไลน์ นอกจากนี้ยังใช้สิทธิ 30 บาท, ประกันสังคม, เบิกจ่ายตรงกับหน่วยงานหรือบริษัทต่างๆ โดยส่งเอกสารรับรองสิทธิ์ผ่าน Siriraj Connect เมื่อทางทีมงานศิริราชอนุมัติการส่งเอกสารรับรองสิทธิ หลังจากตรวจสอบสถานะสิทธิแล้วก็เข้าสู่กระบวนการรักษา ขั้นตอนสุดท้ายต้องชำระค่ายาภายใน 15.00 น. ของวันที่ตรวจ แล้วจะได้รับยาทางไปรษณีย์
2. สมิติเวช เวอร์ชัวล์ ฮอสพิทอล (Samitivej Virtual Hospital)
ช่องทาง : แอปพลิเคชัน Samitivej Plus, LINE @samitivejchinatown
ค่าใช้จ่าย : 15 นาที 500 บาท
ช่องทางหาหมอออนไลน์ สมิติเวช เปิดให้บริการเป็นเจ้าแรกๆ และไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลา เมื่อรู้สึกเจ็บป่วยต้องการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ป่วยสามารถติดต่อกับแพทย์ผ่านช่องทางแอปพลิเคชัน Samitivej Plus ผ่านไลน์และเว็บไซต์ของสมิติเวช แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายส่วนปรึกษาแพทย์ 15 นาที 500 บาท แต่เข้าร่วมสิทธิเบิกประกันกับบริษัทประกันภัยบางแห่ง นอกจากนี้หากผู้ป่วยต้องติดตามอาการ และต้องรับบริการอื่นๆ อาทิ เจาะเลือด และจัดส่งยาที่ต้องรักษาอุณหภูมิ ทางสมิติเวชก็มีทีมบริการที่ไปให้บริการถึงบ้าน โดยให้บริการเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครก่อน ส่วนพื้นที่อื่นๆ ต้องรอติดตามต่อไป
3. รักษา (Raksa)
ช่องทาง : แอปพลิเคชัน Raksa, เว็บไซต์ www.doctorraksa.com
ค่าใช้จ่าย : 15 นาที 200 บาท
แอปพลิเคชันรักษา (Raksa) ให้บริการเหมือนแอปฯหาหมอออนไลน์สมิติเวชตรงที่ให้บริการ 24 ชั่วโมง แต่ระบุหมอจากโรงพยาบาลใดโรงพยาบาลหนึ่งไม่ได้ ใช้วิธีการเลือกตามรายชื่อแพทย์ที่เป็นพาร์ทเนอร์ และจัดยาโดยเภสัชกรที่เข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์เช่นกัน เหมาะสำหรับปรึกษาโรค และอาการเจ็บป่วยทั่วไปที่ไม่ฉุกเฉิน หรือให้แพทย์ช่วยประเมินอาการเบื้องต้นก่อนตัดสินใจเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาลต่อไป พื้นที่กรุงเทพมหานครรับยาได้ 1 ชั่วโมง ต่างจังหวัดจัดส่งทางไปรษณีย์รอรับยาได้ 1-2 วัน
4. ใกล้มือหมอ
ช่องทาง : แอปพลิเคชัน “ใกล้มือหมอ”
ค่าใช้จ่าย : ฟรี
แอปพลิเคชันใกล้มือหมอเป็นช่องทางหาหมอออนไลน์ฟรี ที่ประเมินอาการเบื้องต้นของผู้ป่วยได้แม่นยำถึง 70-80% โดยเป็นแอปฯที่ช่วยให้ผู้ป่วยที่มีคำถามเกี่ยวกับอาการง่ายๆ ของตัวเอง เพื่อช่วยประเมินอาการก่อนเลือกตัดสินใจรักษาต่อไปได้ พร้อมวิธีดูแลตัวเองเบื้องต้น เหมือนมีหมอมาคอยซักอาการ และให้ความรู้ของโรคเพื่อให้คุณดูแลสุขภาพตัวเองได้ แต่หากพบว่าเป็นอาการที่มีความเสี่ยงก็จะมีรายชื่อของสถานพยาบาลใกล้เคียงให้คุณติดต่อเพื่อเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที
5. ดอกเตอร์มี (DoctorME)
ช่องทาง : แอปพลิเคชัน DoctorME
ค่าใช้จ่าย : ฟรี
แอปพลิเคชันดอกเตอร์มี (DoctorME) เป็นแอปดูแลตัวเองที่พัฒนามายาวนานที่สุด เปิดตัวครั้งแรกในปี พ.ศ. 2554 และพัฒนามาหลายเวอร์ชั่น โดยเป็นการออกแบบร่วมกันระหว่าง สสส., มูลนิธิหมอชาวบ้าน, สถาบัน ChangeFushion และบริษัทโอเพ่นดรีม เพื่อให้ผู้ป่วยใช้งานบน Smart Phone และแท็บเล็ตได้เบื้องต้น โดยให้ความรู้เกี่ยวกับโรค อาการเจ็บป่วย วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น รวมถึงการดูแลตัวเองด้วยการใช้ยาต่างๆ ได้ที่บ้าน แม้ว่าจะมีวิธีการเช็กอาการได้เบื้องต้น แต่ยังไม่สามารถนัดพูดคุยกับแพทย์ได้โดยตรง แอปนี้จึงเหมาะสำหรับผู้ใช้งานทั่วไปที่ต้องการเข้าถึงข้อมูลโรคภัยใกล้ตัว ควรโหลดติดเครื่องไว้
โดยรวมแล้วแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ให้บริการหาหมอออนไลน์ ช่วยให้ผู้ป่วยอุ่นใจมากขึ้น และได้รับคำตอบที่ตรงกับโรคที่แท้จริง มากกว่าการสอบถามจากผู้ที่ไม่ได้มีความรู้โดยตรง หรืออ่านข้อมูลโรคจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ รวมถึงมีข้อปฏิบัติที่ถูกต้องแนะนำให้ผู้ป่วยได้ดูแลตัวเองให้ถูกจุด ในยุคนี้จึงเหมาะสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์ ที่อยากปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพตัวจริง
ขอบคุณ ไทยรัฐ