แมวติดโควิด-19 เคสแรกของเกาหลีใต้

เกาหลีใต้พบแมวติดโควิด-19 จากเจ้าของเป็นเคสแรก ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 สำหรับสัตว์เลี้ยงในบ้าน แล้วฉีดให้กับพวกมันด้วย อาจมีความจำเป็นต่อการควบคุมการแพร่ระบาด


เมื่อวันที่ 25 ม.ค. เว็บไซต์ข่าว The Korea Herald รายงานว่า นายชอง เซ-กยุน นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้แถลงว่า พบแมวตัวหนึ่งติดโรคโควิด-19 จากเจ้าของ นับเป็นเคสแรกของประเทศที่มีการติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 จากคนสู่สัตว์ หลังจากที่เคยมีการพบแมวติดโควิด-19 ในอังกฤษ บราซิล และญี่ปุ่น



โดยแมวที่ติดโควิด-19 เป็น 1 ใน 3 ตัวที่ถูกเลี้ยงไว้ในโรงเรียนสอนศาสนา International Prayer Centre ในเมืองจินจู จังหวัดคย็องซังใต้ ทางตอนใต้ของประเทศ ที่ซึ่งมีผู้ติดเชื้อรวมกว่า 100 รายเชื่อมโยงกับสถานที่แห่งนี้ ขณะที่ทั้ง 3 ตัว ซึ่งเป็นแม่แมว 1 ตัว และลูกแมว 2 ตัว ได้รับการตรวจหาเชื้อ และผลออกมาเมื่อวันที่ 21 ม.ค. ว่ามีลูกแมวตัวหนึ่งติดเชื้อ




นายกฯเกาหลีใต้เปิดเผยว่า การตรวจพบแมวติดโควิด-19 ในครั้งนี้เกิดขึ้นในระหว่างที่เจ้าหน้าที่กำลังตามรอยการแพร่ระบาดของโรคที่โรงเรียนสอนศาสนา International Prayer Centre หลังจากพบผู้ติดเชื้อ 29 รายล่าสุด มีความเชื่อมโยงกับสถานที่แห่งนี้ ในจำนวนนี้รวมไปถึงผู้หญิงคนหนึ่งกับลูกสาวของเธอ ที่อาศัยอยู่ที่โรงเรียนสอนศาสนาและยังเป็นเจ้าของแมวทั้ง 3 ตัว ก่อนหน้านี้ก็พบผู้ติดเชื้อกว่า 70 คนที่มีความเชื่อมโยงกับโรงเรียนสอนศาสนาแห่งนี้ 

 

 

โดยเมื่อปีที่แล้ว มีรายงานการพบแมวติดโควิด-19 ที่อังกฤษ บราซิล และญี่ปุ่น ขณะที่ฮ่องกง พบสุนัขติดโควิด-19 และตาย เมื่อเดือน มี.ค. 2563 

 

ข่าวการพบสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขและแมว ติดโควิด-19 ทำให้ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 สำหรับสัตว์เลี้ยงในบ้าน แล้วฉีดให้กับพวกมันด้วย อาจมีความจำเป็นต่อการควบคุมการแพร่ระบาด โดยผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันเอิร์ลแฮม และมหาวิทยาลัยอีสต์ แองเกลีย ในอังกฤษ ร่วมกับมหาวิทยาลัยมินิโซตา ในสหรัฐฯ เขียนบทความลงในวารสารทางการแพทย์ “Virulence” ระบุว่า การวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องของเชื้อไวรัสในสัตว์ ตามด้วยการติดต่อไปสู่คน ทำให้อาจคิดได้ว่าการให้วัคซีนกับสัตว์เลี้ยงภายในบ้านอาจมีความจำเป็นในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ 

 

 

ด้านศาสตราจารย์ค็อค ฟาน ออสเตอร์เฮาต์ แห่งสถาบันวิวัฒนาการทางพันธุกรรม ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เปิดเผยว่า จนถึงตอนนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า สัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขและแมวจะสามารถแพร่เชื้อมาสู่คนได้หรือไม่ แต่การวิจัยและพัฒนาวัคซีนสำหรับสัตว์เลี้ยง อาจมีความจำเป็น.  



ขอบคุณ ไทยรัฐ