1 มี.ค.นี้ เตรียมปรับระบบรักษาโควิด จากสิทธิฉุกเฉิน มาเป็นเบิกจ่ายตามสิทธิทั่วไป เริ่ม ยันไม่กระทบประชาชน รัฐยังออกค่าใช้จ่าย เว้นไปเข้า รพ.เอกชนหรือรับบริการนอกเหนือจากกำหนด
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ในการประชุม ศบค.ในวันที่ 11 ก.พ.นี้ ตนจะเข้าร่วมประชุมในการประชุมครั้งถัดไป ทั้งนี้ สธ.เตรียมที่จะออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ยกเลิกการกำหนดให้ผู้ป่วยโรค “โควิด” เป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน รวมถึง กำหนดค่าตรวจหาเชื้อที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) จะจ่ายชดเชยให้สถานพยาบาล โดยหากใช้วิธี RT-PCR จะอยู่ที่ 900 บาทและ1,100 บาท ขึ้นกับวิธีการตรวจ ส่วนตรวจด้วย ATK ราคาอยู่ที่ 250 และ 350 บาทขึ้นกับเทคนิคของชุดตรวจ รวมทั้งจะปรับอัตรากรณีรักษาในฮอสพิเทลอยู่ที่ 1,000 บาทต่อวัน เท่ากับกรณีการแยกกักตัวเองที่บ้าน(Home Isolation) ทั้งหมดจะมีผลในวันที่ 1 มี.ค.2565 อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่ติดเชื้อยังเข้ารับการรักษาได้ฟรีตามสิทธิหลักประกันสุขภาพของแต่ละบุคคล ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม หรือสวัสดิการข้าราชการ ก็เป็นการเข้าระบบรักษาพยาบาลปกติเหมือนโรคอื่น
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องความพร้อมรองรับผู้ติดเชื้อ “โควิด19” ขณะนี้ระบบสถานบริการโรงพยาบาลเครื่องมือต่างๆ สธ.มีการประชุมทุกสัปดาห์ยืนยันว่า จำนวนสถานพยาบาล ทรัพยากรที่จะนำมาใช้ดูแลผู้เจ็บป่วยโควิดก็ยังมีความพร้อม แต่เวลาทำการควบคุมสถานการณ์โรคระบาด ในบางช่วงก็ต้องไปดูเรื่องการติดเชื้อกรณีที่เชื้อยังมีความรุนแรงอยู่ เมื่อมีการกระจายวัคซีนไปแล้ว มีการใช้ระบบ HI มีความพร้อมของสถานพยาบาลแล้ว การที่จะไปโฟกัสอยู่ที่จำนวนผู้ติดเชื้อมันก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นการโฟกัสที่การควบคุมผู้ป่วยที่มีอาการหนัก และควบคุมจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่า
อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบสถานการณ์ปีที่แล้ว และปีนี้ สิ่งที่แตกต่างกัน คือ ปีที่แล้วประเทศไทยไม่มีวัคซีน พอมีการติดเชื้อระบาดขึ้นมากก็จะมีผู้ป่วยอาการหนักมากขึ้น เสียชีวิตจำนวนมาก แต่พอได้รับวัคซีน มีระบบ HI การเปิดเตียงในโรงพยาบาล เพื่อให้ผู้ที่จำเป็นต้องใช้สถานพยาบาลจริงๆ ก็ทำให้ประคับประคองได้ สำหรับการประชุม ศบค.ในวันที่ 11 ก.พ. 65 นี้ สธ.จะมีการหารือเกี่ยวกับกรณีที่จำรวรผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงมากขึ้น เพราะวันนี้ติดเชื้อเกือบ 15,000 ราย ดังนั้นต้องมีการพูดคุย ถึงแนวทางต่อไป
ขอบคุณ คมชัดลึก/ผู้จัดการออนไลน์/ข่าวช่องวัน