กลายเป็นเรื่องราวอื้อฉาวประจำปีกันเลยทีเดียวเมื่อ “วิล สมิธ” นักแสดงดังได้ตัดสินใจเดินขึ้นเวทีเพื่อตบหน้า “คริส ร็อก” บนเวทีประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 94 หลังจากที่ดาวตลกดังล้อเลียนทรงผมของ “จาดา พิงค์เก็ต สมิธ” ภรรยาของเขา ก่อนที่ไม่กี่นาทีต่อมา “วิล สมิธ” จะคว้ารางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมไปครอง ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของชาวโซเชียลที่เรียกร้องให้สถาบันยึดรางวัลคืน
อาจเป็นช่วงเวลาที่น่าตกใจที่สุดในประวัติศาสตร์ 94 ปีของงานประกาศผลรางวัลออสการ์ หลังวิล สมิธ นักแสดงชื่อดังเดินขึ้นไปบนเวที บุกตบหน้า คริส ร็อก นักแสดงตลกชื่อดังอย่างแรง เหตุเล่นมุกตลกโดยเอ่ยถึง “เจดา พินเก็ตต์ สมิธ” ภรรยาของวิลที่มีอาการป่วยผมร่วงจนต้องโกนผม
วิล สมิธเป็นหนึ่งในราชาแห่งฮอลลีวูดยุคใหม่ที่ในช่วงเวลากว่า 30 ปีในฐานะนักแสดง สมิธมีความทะเยอทะยานตั้งมั่นอยู่ในโปรเจ็กต์ภาพยนตร์พร้อมอวดฝีมือการแสดงอันน่าทึ่ง วิลได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งแรกในปี 2545 สำหรับภาพยนตร์เรื่อง “Ali” ของไมเคิล มานน์ ทว่าแพ้ให้กับเดนเซล วอชิงตัน
ในที่สุดวิล สมิธก็ได้รับรางวัลออสการ์จากบทนำในละครเรื่อง “King Richard” แต่ช่วงเวลาแห่งชัยชนะของเขาบนเวทีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของฮอลลีวูดถูกบดบังด้วยเสียงเงียบ พร้อมการหลั่งน้ำตาของวิลและกล่าวคำขอโทษต่อผู้จัด รวมถึงเพื่อนนักแสดงผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้งหมดกลางเวที
หลังจากการเผชิญหน้ากันระหว่างคริสและวิลกลางเวทีออสการ์ก็กลายเป็นกระแสไวรัล ซึ่งกรมตำรวจลอสแองเจลิสกล่าวว่ารับทราบเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว แต่คริสปฏิเสธที่แจ้งความ ทางด้านผู้จัดออสการ์ออกมาชี้แจงถึงประเด็นร้อนดังกล่าวในทวิตเตอร์ โดยไม่เอ่ยชื่อวิลหรือคริส โดยกล่าวว่าองค์กร “ไม่ยอมรับความรุนแรงในทุก ๆ รูปแบบ คืนนี้ เรามีความยินดีที่จะเฉลิมฉลองผู้ชนะรางวัล Academy Awards ครั้งที่ 94 ของเรา ซึ่งสมควรได้รับช่วงเวลาแห่งการยกย่องจากเพื่อนฝูงและผู้ชื่นชอบภาพยนตร์ทั่วโลก”
ขณะที่เว็บไซต์นิวยอร์กโพสต์ รายงานในวันเดียวกันอ้างแหล่งข่าวใกล้ชิดกับอุตสาหกรรมบันเทิงโดยระบุว่า วิล สมิธ อาจต้องถูกร้องขอให้ส่งคืนตุ๊กตาออสการ์ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม คืนให้กับสถาบันฯ เนื่องจากเป็นการละเมิดหลักจรรยาบรรณของสถาบันฯที่กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2560
ทั้งนี้ หลักการจรรยาบรรณของสถาบันฯ ซึ่งออกมาในปี 2560 หลังเกิดเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศของนักแสดงในวงการ ด้านดาวน์ ฮัดสัน ซีอีโอของสถาบันฯ ระบุในหนังสือถึงสมาชิก ว่า การเป็นสมาชิกสถาบันฯ เป็นสิทธิพิเศษให้กับผู้ที่ถูกเลือกจำนวนหนึ่งในชุมชนผู้ผลิตภาพยนตร์ทั่วโลก
ระบุ “นอกเหนือจากการบรรลุความเป็นเลิศในด้านศิลปะและวิทยาศาสตร์ด้านภาพยนตร์แล้ว สมาชิกยังต้องประพฤติตนอย่างมีจริยธรรมด้วยการรักษาค่านิยมและคุณค่าของสถาบันฯ เช่น เรื่องการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การไม่แบ่งแยก สร้างบรรยากาศแห่งการสนับสนุน และส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์”
“ไม่มีที่ยืนในออสการ์สำหรับผู้ที่ใช้สถานะอำนาจหรืออิทธิพลในทางที่ผิด ในลักษณะที่ละเมิดมาตรฐานความเหมาะสมที่เป็นที่ยอมรับ ทางสถาบันฯต่อต้านการล่วงละเมิด คุกคาม หรือการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ, รสนิยมทางเพศ, เชื้อชาติ, ชาติพันธุ์, ความทุพพลภาพ, อายุ, ศาสนา หรือสัญชาติอย่างเด็ดขาด คณะกรรมการผู้ว่าการเชื่อว่ามาตรฐานเหล่านี้มีความสำคัญต่อภารกิจของสถาบันฯและสะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมของเรา”
“หากคณะกรรมการพบว่าสมาชิกคนใดละเมิดมาตรฐานเหล่านี้โดยการกระทำของพวกเขา คณะกรรมการอาจดำเนินการทางวินัยใด ๆ ที่ได้รับอนุญาตโดยข้อบังคับของสถาบันฯ รวมถึงการระงับหรือไล่ออก”
ขอบคุณ reuters/ Nypost