5 พฤติกรรมที่ไม่ควรทำในรถเกียร์ธรรมดา

รถยนต์แบบเกียร์ธรรมดา เป็นอีกแบบที่ได้รับความนิยม เพราะดูแลรักษาง่าย ค่าใช้จ่ายไม่สูง ไม่ค่อยมีปัญหาจุ๊กจิ๊กกวนใจ แต่ก็มีบางสิ่งที่ไม่ควรทำ 5 พฤติกรรมนี้ ถ้าไม่อยากให้รถของคุณพัง

 

คน, รถ, การซ่อมแซม, ซ่อมรถ, การประชุมเชิงปฏิบัติการรถ

 

1.วางเท้าไว้ที่แป้นคลัตช์

ข้อนี้ถือเป็นสิ่งที่คนใช้รถเกียร์ธรรมดาถูกปลูกฝังมาอย่างยาวนาน เพราะการวางเท้าไว้บนแป้นคลัตช์ตลอดเวลานั้น น้ำหนักของเท้าอาจมากพอที่จะทำให้เกิดแรงกดไปยังชุดคลัตช์อย่างแผ่วเบา ส่งผลให้คลัตช์จับตัวได้ไม่เต็มที่ ทำให้เสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ

 

2.เหยียบคลัตช์ก่อนเหยียบเบรก

การเหยียบคลัตช์บ่อยเกินความจำเป็นก็จะส่งผลให้คลัตช์หมดเร็วได้เช่นกัน โดยเฉพาะมือใหม่หลายคนที่เพิ่งขับรถเกียร์ธรรมดามักใช้วิธีเหยียบคลัตช์ก่อนการเหยียบเบรก เนื่องจากกลัวว่าเครื่องยนต์จะดับ แต่ทันทีที่คุณเหยียบคลัตช์ก็เปรียบเสมือนกับการเข้าเกียร์ว่าง เป็นการตัดกำลังจากเครื่องยนต์โดยสมบูรณ์ ทำให้แรงเบรกจากเครื่องยนต์หายไป ภาระจึงตกไปอยู่ที่ระบบเบรกเพียงอย่างเดียว

     

ทางที่ดีการลดความเร็วในรถเกียร์ธรรมดาให้ทำการเหยียบเบรกก่อน จากนั้นเมื่อรถใกล้หยุดหรือรถเริ่มมีอาการกระตุกจึงค่อยเหยียบคลัทช์แล้วจึงสลับไปเกียร์ว่าง

 

3.เหยียบคลัตช์พร้อมกับเข้าเกียร์ค้างไว้ขณะติดไฟแดง

แม้ว่าแป้นคลัตช์จะหนักอึ้งแค่ไหนแต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่เหยียบคลัตช์ค้างไว้พร้อมกับเข้าเกียร์ 1 รอในขณะติดไฟแดง ซึ่งนอกจากจะทำให้เมื่อยเท้าแล้วนั้น ยังทำให้คลัตช์หมดเร็วกว่าปกติอีกด้วย จึงควรเข้าเกียร์ว่างพร้อมกับปล่อยคลัตช์ขณะติดไฟแดงจะดีกว่า

 

4.หยุดค้างทางลาดชันโดยใช้คลัตช์

หลายคนเมื่อจำเป็นต้องหยุดรถค้างไว้บนทางลาด เช่น ขณะขึ้นที่จอดรถห้างสรรพสินค้า มักใช้วิธีเลี้ยงคลัตช์และคันเร่งเพื่อเย่อรถหน้าหลังให้อยู่กับที่ ซึ่งจะส่งผลให้คลัตช์หมดไวได้ด้วยเช่นกัน วิธีที่ถูกต้องคือการเหยียบเบรกค้างไว้โดยไม่ต้องเข้าเกียร์ แต่หากกลัวว่ารถจะไหลเวลาที่สลับเท้าไปเหยียบคันเร่งแล้วล่ะก็ อันนี้คงต้องฝึกกันบ่อยหน่อยเพื่อออกตัวบนทางลาดชันได้อย่างนุ่มนวล

     

แต่หากยังไม่ค่อยคล่องแล้วล่ะก็ ให้ใช้วิธีดึงเบรกมือก่อน จากนั้นสลับเท้าเพื่อเร่งออกตัวตามปกติ เมื่อรถเริ่มเคลื่อนที่ไปข้างหน้าจึงค่อยปล่อยเบรกมือ ก็จะช่วยไม่ให้รถไหลได้เช่นกัน

 

5.วางมือไว้ที่คันเกียร์

อาจจะด้วยความเคยชินหรือความสบายในการวางแขน หลายคนจึงใช้วิธีวางมือไว้บนคันเกียร์แทนที่จะจับพวงมาลัยด้วยสองมือ ซึ่งน้ำหนักของมืออาจส่งผลให้เหล็กสับเฟืองเกียร์เกิดความเสียหายจนทำให้คันเกียร์หลวมได้นั่นเอง จึงควรหลีกเลี่ยงการวางมือลงบนหัวเกียร์เมื่อไม่จำเป็น

 

รถช่าง, รถ, ยาง, การซ่อมแซม, อย่างรวดเร็ว, อู่ซ่อมรถ

 

 

 

ขอบคุณ sanook.com