ส่อสะดุด ‘มอเตอร์เวย์’ บางปะอิน-โคราช รื้อใหม่ 10 สัญญารุกป่าสงวน

ก่อสร้างคืบหน้าไป เกือบ 100 % สำหรับ มอเตอร์เวย์ บางปะอิน-นครราชสีมา แต่ปรากฎว่า เส้นทางบางช่วงบางตอน ต้องรื้อปรับแก้ใหม่ เนื่องจาก รุกล้ำอยู่ในเขตป่าสงวน ส่งผลให้ การ เปิดใช้เส้นทาง ต้องล่าช้าออกไป ส่อ ลากยาว เปิดให้บริการ ปี 66

นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย รองอธิบดีกรมทางหลวงฝ่ายดำเนินงาน (ทล.) เปิดเผย ว่า ความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร (กม.) 93.28 % ขณะนี้พบว่า บางช่วงต้องปรับแบบใหม่กว่า 10 สัญญา เนื่องจากติดปัญหาแนวเส้นทางผ่านป่าสงวน ในเขตท้องที่จังหวัดนครราชสีมา หลังผู้รับเหมาเข้าพื้นที่สำรวจ เช่น สัญญาที่ 11 อยู่ในบริเวณป่าเขา ต้องเปลี่ยนรูปแบบจากถนนบนพื้นราบ ปรับเปลี่ยนเป็นสะพานยกระดับแทน ขณะเดียวกันที่ผ่านมาสภาพพื้นที่บางเส้นทางบริเวณทางเท้าได้มีการวางแผนแล้ว แต่กลับพบว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นหินทั้งหมด จำเป็นต้องระเบิดหินแทน ทำให้ต้องมีการเปลี่ยน แปลงแบบ รวมทั้งแนวเส้นทางเวนคืนที่ดิน ที่มีการดำเนินการไว้ช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา ไม่สามารถเวนคืนได้

“หลังจากผู้รับเหมาเข้าพื้นที่พบว่าแนวเส้นทางเวนคืนที่ดินนั้นไม่เหมาะสมในการถมดินเพราะไม่คุ้มค่าทำให้มีการปรับแบบเป็นสะพานยกระดับ”

สำหรับมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา แบ่งเป็นวงเงินลงทุน 84,600 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 77,970 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดิน 6,630 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2559-2565 ปัจจุบันสัญญารวมก่อสร้าง จำนวน 40 สัญญา ก่อสร้างแล้วเสร็จ จำนวน 17 สัญญา อยู่ระหว่างดำเนินการปรับแบบกว่า 10 สัญญา และอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ราว 13 สัญญา

การปรับแบบกว่า 10 สัญญา นั้น ทำให้เราต้องของบประมาณเพิ่ม โดยจะใช้งบประมาณเผื่อเหลือเผื่อขาด เนื่องจากที่ผ่านมาเราได้ประมูลงานตํ่ากว่าราคากลาง ราว 50,000 ล้านบาท ทำให้เรามีงบประมาณไม่เกินกรอบที่กำหนดไว้ ราว 10,000 ล้านบาท ส่วนวงเงินงบประมาณที่ขอเพิ่มจำนวนเท่าไรนั้น ยังสรุปไม่ได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการปรับแบบและศึกษารายละเอียดข้อเท็จจริงร่วมกับนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง

นายอภิรัฐ กล่าวต่อว่า ต้องดูความชัดเจนอีกครั้ง เพื่อให้กรมทางหลวงชนบท (ทช.) สามารถรับช่วงดำเนินการต่อได้ ขณะเดียวกันนายศักดิ์สยามชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้กำชับอีกว่า ถ้าความผิดพลาดเกิดจากผู้รับจ้าง โดยผู้รับจ้างต้องรับผิดชอบในส่วนนั้น หากกรณีเป็นเหตุสุดวิสัย เกิดจากผู้รับจ้าง เช่น พื้นที่บริเวณที่ผ่านป่าสงวนเปลี่ยนมีความจำเป็นต้องปรับแก้ไขแบบ ก็จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือน ก.ย.นี้ หลังจากนั้นจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบภายในเดือน ก.ย.นี้ด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกันด้านงานก่อสร้างดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 17 สัญญา พร้อมส่งมอบพื้นที่ให้ระบบโอแอนด์เอ็มไปดำเนินการต่อ ส่วนสัญญาที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ราว 13 สัญญา สามารถดำเนินการต่อได้ เนื่องจากไม่ได้มีการปรับแบบเพิ่มเติม ขณะที่สัญญาที่ถูกปรับแบบกว่า 10 กว่าสัญญา เข้าขั้นวิกฤติจำเป็นต้องปรับแบบเพื่อดำเนินการได้ทันก่อนเปิดให้บริการภายในปี 2566

ทั้งนี้จะมีสัญญาฉบับใดบ้างที่ถูกปรับแบบ เบื้องต้นขอดูรายละเอียดข้อเท็จจริงก่อนว่าเป็นอย่างไร เหมาะสมหรือไม่ ส่วนผู้รับเหมาขอขยายระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างถึงปลายปี 2565 นั้น เชื่อว่าจะไม่เกินกรอบระยะเวลาที่เปิดภายในปี 2566 แน่นอน เพราะช่วงที่ดำเนินการก่อสร้างเราจะดำเนินการคู่ขนานกับสัญญาที่ระบุไว้ หากสัญญาฉบับใดที่จะกระทบต่อการเปิดให้บริการ จำเป็นต้องปรับแผนทุกครั้งเพื่อให้สอดคล้องกัน ขณะเดียวกันยอมรับว่าการปรับแผนมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมาในครั้งนี้ บางสัญญาทำให้ล่าช้ากว่าแผนก่อสร้างที่ต้องดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2564 แต่ภาพรวมส่วนใหญ่เป็นไปตามแผนที่วางไว้

ที่ผ่านมาได้ประเมินค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นจากสัญญาเดิม ราว 6,818.28 ล้านบาท วงเงินที่เพิ่มขึ้นไม่กระทบต่อกรอบวงเงินมอเตอร์เวย์สายดังกล่าวที่ ครม.เคยอนุมัติไว้ อยู่ที่ 71,825 ล้านบาท เนื่องจากทล.สามารถประหยัดงบค่าก่อสร้างจากการประมูลทั้ง 40 สัญญา กว่า 10,000 ล้านบาท

ด้าน นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชษฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจ.นครราชสีมา กล่าวถึง กรณีปัญหาการปรับแบบโครงการมอเตอร์เวย์เส้นทางบางประอิน- นครราชสีมา ว่า ตนคิดตามโครงการมอเตอร์เวย์มาโดยตลอด เพราะมอเตอร์เวย์นั้นไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการคมนาคมเท่านั้น แต่เป็นเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจและการลงทุนในภูมิภาคอีสาน โครงการก่อสร้างนั้นมีทั้งหมด 40 สัญญา และได้มีการแบ่งซอยสัญญาออกมาเป็นช่วงๆ

ขณะนี้การดำเนินการแล้วเสร็จไปแล้ว 17 สัญญาและเป็นการดำเนินการเสร็จก่อนครบสัญญาในปี 2565 ด้วย และอีก 13 สัญญาไม่มีปัญหาอะไร จะมีเพียง 10 สัญญาที่มีปัญหาโดยเฉพาะช่วง อ.หมวกเหล็ก ที่จะต้องผ่านผืนป่าต่างๆ และยังมีจุดอื่นซึ่งตนขอไม่ลงรายละเอียด

“ผมเกาะติดโครงการมอเตอร์เวย์มาตลอด เข้าร่วมประชุมทุกครั้ง ทราบรายละเอียดโครงการต่างๆ และเห็นว่าการแบ่งซอยสัญญาเป็น 40 สัญญาและใช้ระบบให้ผู้รับเหมารายใดทำงานได้เสร็จก็สามารถเบิกเงินได้ทันทีเป็นการเรื่องดีและสร้างจูงใจให้ผู้รับเหมาเร่งทำงานให้เร็วมากยิ่งขึ้น” นายหัสดิน กล่าวและว่า

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่จะต้องพูดอย่างตรงไปตรงมาก็คือ เรื่องการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ที่ไม่รอบคอบเป็นไปแบบลูบหน้าปะจมูก เมื่อดำเนินก่อสร้างไปบางพื้นที่เป็นผืนป่า บางพื้นที่เป็นแหล่งน้ำจึงต้องมีการปรับแบบไป ซึ่งภาครัฐผิดแน่นอนและภาคเอกชนจะต้องได้รับการเยียวยาหากไม่เช่นนั้นเขาก็อาจจะไม่ทำงานต่อไป

ประธานสภาอุตสาหกรรมจ.นครราชสีมา กล่าวว่า ปัญหาคือ งบประมาณที่มีการขอเพิ่มเติมจำนวน 6,000 ล้านบาท ก็จะต้องมาพิจารณาแยกว่า ผู้รับเหมามีส่วนผิดหรือไม่ เพราะเมื่อมีการเห็นแบบแล้วก็ย่อมรู้ว่าทำได้หรือไม่ได้ ไม่ใช่ใช้วิธีการเหมารวมก็จะไม่แฟร์ ผู้รับเหมาก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย

“เรื่อง EIA ที่มีการประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี 2556 และมีการก่อสร้างปี 2558 ปล่อยให้ผ่านมาได้อย่างไร ข้อบกพร่องทีเกิดขึ้น รัฐจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาและกล้าตัดสินใจ วงเงินที่เพิ่มขึ้นมานั้น ไม่ได้เกินกรอบงบประมาณที่ตั้งไว้” นายหัสดินทร์กล่าวที่

นายหัสดินกล่าวว่า สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนอีสาน นั้นเรื่องแรกคือ โอแอนด์เอ็ม หรือช่องทางการเก็บเงินของผู้ที่จะเข้มาทำหน้าที่ดูแลรักษาเส้นทางตลอดระยะเวลา 30 ปีของสัญญานั้นยังไม่มีการประมูล จึงยังไม่มีการก่อสร้าง ซึ่งหมายถึงเส้นทายังไม่มีการขึ้นลง ซึ่งเป็นไปได้อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องความผิดของภาครัฐแน่นอนที่จะไปรอให้การก่อสร้างเสร็จแล้วจึงจะดำเนินการ

สิ่งที่ตนเรียกร้องคือ ในช่วงต้นปี 2564 คนอีสานจะต้องได้ใช้มอเตอร์เวย์บางช่วง โดยเฉพาะช่วงหมวกเหล็กและคลองไผ่ ที่มีการจรจรหนาแน่นมากๆ นับจากนี้ไปยังมีเวลาเหลืออีก 4 เดือน ที่จะทำให้การเดินทางปลอดภัยในระดับพอสมควรและมีช่องทางขึ้นลงได้ใช้ประโยชน์ด้วย เพราะก่อนที่จะมีการเปิดใช้อย่างเป็นทางการผู้รับเหมาก็จะต้อมีการทดสอบความแข็งแรงและปลอดภัยอยู่แล้ว

“มอเตอร์เวย์ไม่ได้เป็นเพียงเส้นทางคมนาคมเท่านั้น และยังมีรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูงที่จะช่วยกันเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจอีสานด้วย สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน นั้น เราไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย จากเดิมไทยเราค้ากับจีนเป็นอันดับหนึ่งต่อมาเวียดนามแซงหน้าไปเป็นอันดับหนึ่ง และล่าสุดอินโดเนียเซียก็แซงเราขึ้นไปทำให้ไทยเราหลุดมาเป็นอันดับสาม” นายหัสดินกล่าว

นายหัสดินกล่าวอีกว่า การพัฒนาภาคอีสานนั้น รัฐควรที่จะได้ให้แต้มต่อในการลงทุน ไม่ต้องเท่ากับ EEC หรอก แต่ก็ควรที่จะมี เพราะธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ไม่สามารถไป EEC ได้เขาก็จะได้เลือกมาลงทุนที่ภาคอีสาน ทั้งโคราช ขอนแก่น หรืออุดรฯ ซึ่งเป็นอีเวอร์จิ้นมาเก็ตของประเทศไทย ประชากรจำนวนมาก และตลาดของภาคอีสานก็ยังใหม่และเดินไปได้ด้วยดีแม้จะมีวิกฤตเกิดขึ้นก็ตาม

เส้นทางมอเตอร์เวย์บางประอิน – นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. ราคากลางก่อสร้างประมาณ 90,000 ล้านบาท ประมูลราคาก่อสร้าง 77,970 ล้านบาท ค่าเวนคืน 6,630 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 84,600 ล้าน ต่ำกกว่าราคาประมาณ 5,400 ล้านบาท โดยการปรับแบบครั้งนี้มีการเสนองบประมาณเพิ่มจำนวน 6,000 ล้าน โดยยังไม่ได้มีการเจรจาต่อรองกันระหว่างรัฐกับผู้รับเหมา

ขอบคุณข่าวจาก www.esanbiz.com