ว่าด้วยเรื่องบัตร 30 บาท ที่ประชาชนทุกคนมีความกังวลอยู่ ณ ขณะนี้ หลายคนกังวลว่าสิทธิ์ของผู้ป่วยที่โดนยกเลิกไปนั้นผู้ป่วยยังสามารถเข้ารักษาตัวได้หรือไม่ และสามารถเข้ารักษาตัวได้ที่ไหนบ้าง วันนี้เรามีข้อมูลมาอัพเดทให้ทุกคนได้ทราบกันแล้วนะคะ แต่ได้คลายความกังวลกันได้บ้าง
วันที่ 5 ต.ค. 2563 นายอุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวภายหลังประชุมบอร์ด ว่าที่ประชุมเห็นชอบข้อเสนอ เพื่อยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และช่วยลดขั้นตอน ปัญหาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้ารับบริการให้กับประชาชนผู้มีสิทธิตามที่ได้มอบนโยบายไปก่อนหน้านี้ 4 เรื่องด้วยกันได้แก่
1. ประชาชนที่เจ็บป่วยสามารถเข้ารักษาในหน่วยบริการปฐมภูมิได้ทุกที่ เบื้องต้นนำร่องในพื้นที่ กทม. และ ปริมณฑล ซึ่งโครงสร้างของระบบบริการมีความพร้อมที่จะเดินหน้าได้ โดยจะขยายเครือข่ายบริการปฐมภูมิเพื่อรองรับและเชื่อมต่อข้อมูลคลินิกหมอครอบครัวและผู้ป่วยเพิ่มเตืม จัดทำระบบตรวจสอบสิทธิผ่านแอปพลิเคชัน มีระบบยืนยันตัวตนการรับบริการผ่านบัตรประชาชน เริ่มวันที่ 1 พ.ย. นี้
2. ผู้ป่วยไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัวผู้ เช่น ผู้ป่วยที่ต้องอยู่นอนรักษาตัวอยู่ในรพ.ต่อเนื่อง เดิมเมื่อใบส่งตัวครบกำหนดต้องกลับไปขอใบส่งตัวใหม่ที่หน่วยรับบริการประจำ จึงทำให้ยุ่งยาก เกิดความไม่สะดวกกับผู้ป่วยทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงปรับระบบให้ผู้ป่วยในรักษาต่อเนื่องได้ทันทีตามการวินิจฉัยของแพทย์โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ใช้เพียงบัตรประชาชนตรวจสอบตัวตนผู้ป่วย จะนำร่องในพื้นที่เขต 9 นครราชสีมา วันที่ 1 พ.ย.นี้ ส่วน กทม.และปริมณฑล จะเริ่มวันที่ 1 ม.ค.2564 ก่อนขยายไปยังจังหวัดอื่น
3. โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม โดยผู้ป่วยที่ถูกวินิจฉัยแล้วว่าเป็นมะเร็งจะได้ใบรับรองและประวัติ หรือ Code เพื่อเลือกไปรับบริการที่อื่นผ่าน 3 ช่องทาง คือ สายด่วน สปสช. 1330, แอปพลิเคชัน สปสช. และติดต่อที่หน่วยบริการโดยตรง เฉพาะที่รพ.รักษามะเร็ง ที่มีความพร้อมเข้าร่วม โดยรพ.จะส่งข้อมูลเบิกจ่ายมายังสปสช. เพื่อให้รักษาโดยเร็ว ไม่ให้อาการลุกลามและเพิ่มโอกาสรักษาให้หายขาดในมะเร็งบางชนิด เริ่มในรพ.ที่มีความพร้อมทั่วประเทศในวันที่ 1 ม.ค.2564
4. ย้ายหน่วยบริการได้สิทธิทันที ไม่ต้องรอ 15 วัน เป็นสิ่งที่ประชาชนเรียกร้องมาระยะหนึ่งจะเริ่มพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 1 ม.ค. 2564
ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเลือกพื้นที่ โดยต้องมีการประเมินก่อนว่าพื้นที่ไหนมีศักยภาพในการนำร่องเรื่องนี้ ต้องหาพื้นที่ที่มีต้นทุนในเรื่องระบบการจัดการอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเขต 1 เขต 12 เขต 9 และ กทม. ซึ่งมีศักยภาพ มีการบริหารแบบพวงบริการอยู่แล้ว แต่เราก็ต้องเลือกก่อนว่ามีพื้นที่อื่นๆหรือไม่
“เรายึดหลักการกระจายอำนาจ ซึ่งทำมาแล้ว 2-3 ปีที่ผ่านมา เบื้องต้นตั้งใจออกแบบด้วยการตั้งคณะกรรมการระดับเขต มีการตั้งกองทุนระดับเขตขึ้นเพื่อให้ในพื้นที่บริหารจัดการเอง ทำเหมือนเขตเป็นประเทศหนึ่งบริหารจัดการ อย่างมีหัวประชากรเท่าไหร่ ก็เอาไปไว้ที่โน้น เพื่อบริหารจัดการเองโดย รพ.ไม่เดือดร้อน ไม่เกิดภาวะขาดสภาพคล่องอย่างไรก็ตาม การทำรูปแบบนี้จะต้องขอ ก.พ.และ ก.พ.ร. เพื่อดำเนินการ โดยคาดว่าต้องทำให้ได้ภายในปีนี้” ปลัดสธ.กล่าว
ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า การพัฒนาระบบบริการบัตรทองในครั้งนี้ สปสช. สามารถเดินหน้าได้จากรับความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจาก สธ. และ กทม. ในการจัดเตรียมเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลรองรับ เพื่อให้ผู้ป่วยนอกเข้ารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิได้ทุกที่ รวมถึงความร่วมมือจากหน่วยบริการทั้งภาครัฐและเอกชนที่ร่วมระบบบัตรทองในการปรับระบบบริการ ทั้งผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม และย้ายหน่วยบริการได้สิทธิทันที ไม่ต้องรอ 15 วัน
“ทั้งนี้จากที่บอร์ด สปสช. ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ได้มอบคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง และ สปสช. ปรับปรุงระเบียบประกาศที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการดำเนินตามนโยบาย และเสนอให้ประธานบอร์ด สปสช. ลงนามต่อไป”
หากใครมีข้อสงสัยประการใดสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ 1330 นะคะ
ขอบคุณรูปภาพประกอบ