ไม่มีชะลอ! อัศวิน ยันบีทีเอสสายสีเขียว 104 บาท ตลอดสาย เริ่ม 16 ก.พ.นี้

กทม. ยันจะเก็บค่าโดยสายบีทีเอสสายสีเขียว ในราคา 104 บาท ตลอดสาย เนื่องจากแบกรับต้นทุนไม่ไหว เริ่มเก็บค่าโดยสารในอัตราใหม่ในวันที่ 16 ก.พ. นี้ หลังจากไม่ได้เก็บค่าโดยสารมาเกือบสามปีแล้ว

เมื่อวันที่ 21 มกราคม พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ที่ศาลาว่า กทม.กรณีที่ประชุมคณะกรรมาธิการคมนาคม ที่มีนายโสภณ ซารัมย์ เป็นประธาน มีมติให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ชะลอการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 104 บาท ที่มีกำหนดเริ่มราคาใหม่ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ ออกไปก่อนว่า กทม.ยืนยันจะเก็บค่าโดยสารตามที่ประกาศและกำหนดวัน หากจะให้ชะลอมีเพียงกรณีเดียวคือ รัฐบาลสั่งให้ชะลอ

 

“ส่วนกรณีที่กระทรวงคมนาคมมีหนังสือให้ กทม.ชะลอการเก็บค่าโดยสารออกไปก่อนนั้น เขาก็มีเหตุผลของเขา แต่ กทม.ก็มีเหตุผลเหมือนกัน เพราะถ้าชะลอออกไปอีก จะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายให้เอกชน ทั้งนี้ ถ้า ครม.อนุมัติตามที่ กทม.เสนอทุกอย่างก็จบ ส่วน ครม.จะพิจารณาเมื่อไร ตอบไม่ได้ อย่างไรก็ตาม กทม.ยืนยันวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ จะเก็บค่าโดยสารในอัตราใหม่แน่นอน”  สำหรับค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ราคา 104 บาท ตลอดสาย ไม่ได้แพงเกินไป และรถไฟฟ้าสายอื่นก็เก็บค่าโดยสารไม่ได้ถูกกว่ารถไฟฟ้าสายสีเขียวแต่อย่างใด

“สามารถเปรียบเทียบกันได้แบบกิโลเมตรต่อกิโลเมตร (กม.) โดยสายสีน้ำเงิน ค่าโดยสาร 1.62 บาท/กม. ส่วนสายสีเขียว 1.23 บาท/กม. นอกจากนี้ รถไฟฟ้าสายอื่น รัฐบาลออกค่าก่อสร้างให้ทั้งหมดแสนกว่าล้านบาท แต่รถไฟฟ้าสายสีเขียว รัฐบาลไม่ได้ออกค่าก่อสร้างให้แม้แต่สลึงเดียว กทม.ยืนยันว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวถูกกว่า และทำถูกต้องตามขั้นตอนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ร่วมทุนฯ หากไม่ถูกต้องให้ยื่นฟ้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เลย” พล.ต.อ.อัศวินกล่าว

 

นอกจากนี้ กทม.ยังได้ชี้แจงกรณีการเก็บค่าโดยสารอัตราใหม่ด้วย โดยระบุว่า ในช่วงทดลองให้บริการส่วนต่อขยายต่างๆ กทม.ไม่มีการเรียกเก็บค่าโดยสารมา 3 ปีแล้ว เนื่องจาก กทม. ต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน

 

แต่ตอนนี้เปิดให้บริการเดินรถเต็มทั้งระบบแล้ว ประกอบกับ กทม. มีภาระค่าใช้จ่ายในการเดิน รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเริ่มเรียกเก็บค่าโดยสารจากผู้ใช้บริการในส่วนต่อขยายสายสีเขียว ตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ. 2564 เป็นต้นไป ยืนยันว่าเสียค่าแรกเข้ารอบเดียว ไม่มีการเก็บซ้ำซ้อน

 

ส่วนอัตราค่าโดยสารสูงสุด จริงๆ แล้วอยู่ที่ 158 บาท แต่เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาด จะปรับอัตราค่าโดยสารสูงสุดอยู่ที่ 104 บาทแทน ซึ่ง กทม. จะมีผลขาดทุนจากการดำเนินการส่วนต่อขยายประมาณปีละ 3,000-4,000 ล้านบาท เมื่อนับรวมตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปี 2572 จะมีผลขาดทุนถึงประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท

 

ขณะที่ประเด็นการต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียว เห็นว่าแนวทาง PPP เป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุด โดยจะให้เอกชนเข้ามารับภาระหนี้สินของ กทม. เพื่อที่จะทำให้ กทม. สามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ไม่เป็นภาระต่อประชาชนจนเกินสมควร

 

โดยกำหนดเส้นทางและค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวไว้ ดังนี้

1. รถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต (สถานีห้าแยกลาดพร้าว – สถานีคูคต) จำนวน 16 สถานี เก็บค่าโดยสารราคา 15-45 บาท (ปรับขึ้น 3 บาท/สถานี)

2.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ คือ รถไฟฟ้าสายสีเขียวตามแนวสัมปทาน สายสุขุมวิท ช่วงอ่อนนุช – หมอชิต และสายสีลม ช่วงสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ – สะพานตากสิน ส่วนต่อขยายสายสีลมช่วงที่ 1 คือรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงสถานีกรุงธนบุรี – สถานีวงเวียนใหญ่ จำนวน 2 สถานี จำนวนรวม 23 สถานี ค่าโดยสารอยู่ที่ 16-44 บาท

3.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท คือรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงสถานีบางจาก – สถานีแบริ่ง-สมุทรปราการ จำนวน 14 สถานี ค่าโดยสารอยู่ที่ 15-45 บาท (ปรับขึ้น 3 บาท/สถานี)

4. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ส่วนต่อขยายสายสีลมช่วงที่ 2 คือส่วนต่อขยายสายสีลม ช่วงสถานีโพธิ์นิมิตร – บางหว้า จำนวน 4 สถานี ค่าโดยสารอยู่ที่ 15-24 บาท (ปรับเพิ่ม 3 บาท/สถานี)

**ค่าแรกเข้าเก็บครั้งเดียวและจัดเก็บสูงสุดไม่เกิน 104 บาท**

 
 
 
ขอขอบคุณ มติชน, ประชาชาติธุรกิจ