จากกรณีชาวบ้านใน จ.พะเยา ร้องอยากให้ย้ายเสาสัญญาณโทรศัพท์ของผู้ให้บริการออกไปห่างจากชุมชน โดยอ้างว่าคลื่นสัญญาณที่มีความแรง ทำให้ใจสั่น สมองมึนงง เกิดฟ้าผ่าบ่อย ที่สำคัญผู้หญิงในหมู่บ้านแท้งลูกไปแล้ว 5 คน จนคนที่แต่งงานใหม่ต้องย้ายไปอยู่ที่อื่นนั้น
ล่าสุด วันที่ 24 มกราคม 2564 รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความรู้ถึงกรณีดังกล่าวว่า เสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ทำให้เกิดอาการแท้งบุตรนั้น อันนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะเสาส่งที่นั่นก็ตั้งมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว แต่มีคนแท้งแค่ 5 คน ไม่น่าจะเป็นนัยสำคัญที่จะระบุได้ว่าเป็นผลมาจากเรื่องของเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ จริงๆ ต้องไปดูสาเหตุเป็นรายบุคคลมากกว่า ว่าภาวะแท้งบุตรนั้นเกิดขึ้นอย่างไร มีความสอดคล้องกันทั้ง 5 คนหรือไม่ หรือแตกต่างกัน
บ่อยครั้งมีการกล่าวอ้างว่าเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ทำให้คนในหมู่บ้านเป็นโรคมะเร็ง แต่พอไปดูแล้วก็พบว่าผู้ป่วยแต่ละคนนั้นก็มีความแตกต่างกันของการเป็นมะเร็ง ไม่ได้มีความสอดคล้องกันที่จะยืนยันว่าเป็นอุบัติการณ์ร่วม
กรณีที่เกิดอาการใจสั่น ประสาทเสีย จนเป็นจิตเวชนั้น ก็เหมือนกันที่ว่าไม่น่าจะเกิดจากเรื่องเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ร่วมกับฝน! ควรจะต้องวิเคราะห์เป็นรายบุคคลไปว่าน่าจะเกิดจากเหตุผลใด
ส่วนเรื่องที่ฟ้าผ่าลงมาที่เสาส่ง แล้วทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าของบ้านรอบข้างเสียหายไปด้วยนั้น อันนี้พอเป็นไปได้ มันเป็นเรื่องของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เกิดขึ้นขณะฟ้าผ่าลงมา และเหนี่ยวนำไปในอากาศจนช็อตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่อยู่ใกล้เคียงได้ ก็ต้องไปดูว่ามีบ้านใครอยู่ใกล้กับเสาในระยะที่เกินกว่ากำหนดหรือเปล่า
ในทางความปลอดภัยของสัญญาณโทรศัพท์ที่มีต่อมนุษย์นั้น สำนักงาน กสทช. เคยเปิดเผยไว้ว่า หลังจากมีการร้องเรียนเรื่องสุขภาพของผลกระทบ เช่น ปวดศีรษะ หน้ามืด อ่อนแรง เป็นมะเร็ง เป็นต้น ไปยังหลายหน่วยงานทั้งในระดับท้องถิ่น สื่อสาธารณะ หรือแม้แต่ศาลปกครอง กสทช. จึงได้ส่งคำถามเรื่องนี้ไปที่องค์การอนามัยโลก
ดร.อีมิลี ฟาน เดเวนเตอร์ หัวหน้าคณะรังสีวิทยา องค์การอนามัยโลก ได้ตอบกลับคำถาม โดยยืนยันผลการศึกษาช่วงระยะ 10 ปี ระหว่างปี พ.ศ.2539-2549 ว่า ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถชี้ได้ว่าการส่งสัญญาณในคลื่นความถี่ระหว่าง 0-300 กิกะเฮิรตซ์ จากสถานีฐาน และการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ จะมีผลร้ายแรงต่อสุขภาพ
จากนั้นในปี 2553 คณะนักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก ได้ศึกษากรณีการส่งคลื่นสัญญาณเฉพาะโทรศัพท์เคลื่อนที่จากสถานีฐาน ก็ยังไม่พบหลักฐานว่าคลื่นความถี่มีผลต่อสุขภาพ และหลังจากนั้นองค์การอนามัยโลกยังศึกษาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ถึงความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพร่างกายกับการปล่อยคลื่นความถี่จากอุปกรณ์ไร้สาย และสถานีส่งสัญญาณคลื่นโทรศัพท์ ไม่พบว่ามีความสัมพันธ์ใดๆ อีกเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม มีประเด็นน่าสนใจอยู่เรื่องหนึ่งที่ว่า ชาวบ้านบอกว่า ตอนที่มีการตั้งเสาส่งสัญญาณเมื่อ 10 ปีก่อนนั้น ไม่ได้มีการทำประชาพิจารณ์มาก่อน ซึ่งอันนี้ไม่ถูกต้อง หากพบว่าเป็นเรื่องจริง ชาวบ้านสามารถรวบรวมรายชื่อคนในชุมชนที่ไม่ต้องการติดตั้งเสา ส่งให้กับทาง กสทช.ให้เข้ามาตรวจสอบ หรือโทรร้องเรียนที่สายด่วน 1300.