ปลาทอง คือสัตว์อีกหนึ่งชนิดที่ได้รับความนิยมในการเลี้ยง เพราะความน่ารัก สีสันสดใส เลี่ยงง่าย ราคาไม่แรง มีตั้งแต่หลักสิบ จนถึงหลักหมื่น หลักแสน ขึ้นอยู่กับสายพันธ์และลักษณะของน้อง และสำหรับวันนี้แอดมินได้นำ 9 สายพันธ์ปลาทองยอดนิยมมาฝาก เผื่อว่าเพื่อนๆ คนไหนชื่นชอบ แล้วจะตามหาน้องมาอยู่ด้วย และ 9 สายพันธ์ปลาทองยอดนิยมคือ
ปลาทองพันธุ์โคเมท (Comet) ถือเป็นต้นตระกูลของปลาทองเลยก็ว่าได้ ลักษณะเหมือนปลาคาร์พแต่หางยาวกว่า ลำตัวแบนยาว ปลายคอดแหลม อาจจะมีสีแดงทั้งตัว สีแดงสลับขาว สีทอง หรือ 5 สีในตัวเดียวกันก็ได้ นิสัยค่อนข้างปราดเปรียว เลี้ยงง่าย แข็งแรง และมีความทนทานพอสมควร
2. ปลาทองริวคิน
ปลาทองพันธุ์ริวคิน (Ryukin หรือ Veiltail Goldfish) เป็นปลาทองที่ได้รับความนิยมมากทั้งในไทยและญี่ปุ่น ลักษณะสวยงาม สีสันสดใส ลำตัวและท้องอ้วนกลมสั้น หัวไม่มีวุ้น โหนกหลังสูง หางยาวเป็นพวง บานออกเวลาว่ายน้ำ และถ้าจะให้ดีต้องมีหัวเล็กและเกล็ดหนาด้วย สามารถแบ่งย่อยลงไปได้อีกตามสี คือ ริวคินสีแดงหรือสีขาว-แดง และริวคิน 5 สี (สีแดง สีส้ม สีดำ สีขาว และสีฟ้า)
3. ปลาทองหัวสิงห์ญี่ปุ่น
ปลาทองพันธุ์หัวสิงห์ญี่ปุ่น (Ranchu) เป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมสูง เลี้ยงที่บ้านก็มาก นำมาประกวดก็เยอะ ต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่น พัฒนามาจากพันธุ์หัวสิงห์จีน ลักษณะลำตัวสั้น หลังโค้งเป็นครึ่งวงกลม มีวุ้นเล็กละเอียดที่หัว กระพุ้งแก้ม และเหนือริมฝีปาก สันหลังหนา ครีบหางสั้น ยกสูงเป็นมุมแหลม ครีบก้นขนาดเท่ากัน ส่วนใหญ่มีสีส้มเข้มเหลือบทอง
4. ปลาทองหัวสิงห์สยาม
ปลาทองพันธุ์หัวสิงห์สยาม หรือหัวสิงห์ตามิดดำ (Siamese Lionhead) มีต้นกำเนิดมาจากประเทศไทย เป็นปลาทองลูกผสมที่มีลักษณะคล้ายปลาทองพันธุ์หัวสยามสิงห์ญี่ปุ่น แต่ลำตัวไม่หนามาก และวุ้นเยอะจนเกือบปิดตา ที่สำคัญมีสีเทาหรือสีดำสนิททุกส่วน ทั้งตัว ครีบ เหงือก วุ้น และเมือก
5. ปลาทองออรันดาหัววุ้น
ปลาทองพันธุ์ออรันดาหัววุ้น (Dutch Lionhead) เพาะพันธุ์ขึ้นมาในประเทศญี่ปุ่น และถูกเรียกว่า “ออรันดาชิชิกาชิระ” (Orandashishigashira) ซึ่งหมายถึง Dutch Lionhead เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่ผู้คนนิยมเลี้ยง และเป็นสายพันธุ์ยอดฮิตในตระกูลออรันดา ลักษณะเด่น คือ มีวุ้นเล็กละเอียดบนหัวเยอะจนเป็นก้อนกลม ๆ คล้ายสวมหมวก ครีบทั้งบนหลังและหางแผ่กว้าง ส่วนใหญ่มีสีแดงหรือสีขาวปนแดง
6. ปลาทองเล่ห์
ปลาทองพันธุ์เล่ห์ หรือปลาทองพันธุ์มัว (Black Telescope Eyes Goldfish หรือ Black Moor) อยู่ในกลุ่มปลาทองตาโปน แต่ก็ได้โปนมากนัก เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นในกลุ่มเดียวกัน คนไทยบางคนเรียกว่า ลักเล่ห์ ส่วนคนญี่ปุ่นเรียนว่า คุโร เดเมะคิน (Kuro Demekin) จุดเด่น คือ มีสีนากหรือสีดำสนิททั้งตัวและครีบ สามารถแบ่งย่อยลงไปได้อีกตามลักษณะลำตัวและหาง เช่น เลห์กระโปรง เล่ห์ตุ๊กตา เล่ห์ควาย และเล่ห์หลังอูฐ เป็นตัน
7. ปลาทองตาลูกโป่ง
ปลาทองพันธุ์ตาลูกโป่ง (Bubble Eye Goldfish) มีชื่อญี่ปุ่นว่า ซุอีโฮกัน (Suihogan) ต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน ส่วนใหญ่มีสีแดงหรือสีขาวปนแดง ลักษณะลำตัวคล้ายกับพันธุ์สิงห์จีน คือ ไม่มีวุ้นที่หัว ไม่มีครีบหลัง และครีบหางยาว แต่ที่เบ้าตาจะมีถุงน้ำขนาดใหญ่ที่โปร่งแสงและขนาดเท่ากันติดอยู่ใต้ตา มักจะแกว่งไป-มาเวลาว่ายน้ำ จนดูเหมือนลูกโป่ง และเป็นที่มาของชื่อนั่นเอง
8. ปลาทองเกล็ดแก้ว
ปลาทองพันธุ์เกล็ดแก้ว (Pearl Scale Goldfish) เพาะพันธุ์ครั้งแรกในประเทศไทย ขึ้นชื่อเรื่องความแตกต่างมาก เพราะมีลักษณะลำตัวอ้วนกลมหรือป้อมสั้น แต่หัวเล็กแหลม แถมยังมาพร้อมกับเกล็ดที่หนา แข็ง และนูน ส่วนใหญ่มีสีขาว สีส้ม และสีทอง สามารถแบ่งย่อยลงไปได้อีกหลายสายพันธุ์ เช่น เกล็ดแก้วหน้าหนู เกล็ดแก้วหัววุ้น และเกล็ดแก้วหัวมงกุฎ เป็นต้น
9. ปลาทองหัวสิงห์จีน
ปลาทองพันธุ์หัวสิงห์จีน (Chinese Lionhead) ถือเป็นต้นตระกูลของปลาทองพันธุ์หัวสิงห์ มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน ลักษณะลำตัวค่อนข้างยาว แต่หัวใหญ่กว่าตัวมาก หลังโค้งเล็กน้อย ไม่มีครีบหลัง ส่วนหางหนา ใหญ่ ยาว อ่อน และเป็นแนวเดียวกับสันหลัง จุดเด่นคือมีวุ้นที่หัวเยอะและหนากว่าหัวสิงห์สายพันธุ์อื่น มักมีสีแดงหรือสีส้มแกมทอง โตตามขนาดบ่อ เฉลี่ยประมาณ 15 เซนติเมตร อายุประมาณ 5-7 ปี
ขอบคุณ kapook.com ข้อมูลจาก มาตรฐานสายพันธุ์และเกณฑ์การตัดสินปลาทองในประเทศไทย, ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเชียงใหม่ และกรมประมง กระทรวงเกษตรเเละสหกรณ์