นานาชาติทั่งโลกต่างคิดค้น และพัฒนาวัคซีนเพื่อต่อต้านวัคซีนกันอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการคิดค้นและพัฒนาในการใช้วัคซีนแบบไม่ต้องใช้เข็ม รวมถึงประเทศไทยด้วย
ปัจจุบันวัคซีนโควิดชนิดสูดดม พ่นทางจมูกและปาก มีการพัฒนาอย่างน้อยกว่า 10 ยี่ห้อทั่วโลก ทั้งประเทศจีน อินเดีย อังกฤษ และสหรัฐฯ เข้าสู่ขั้นตอนการทดสอบทางคลินิกกับอาสาสมัคร ระยะที่ 1 โดยหนึ่งในนั้นมีบริษัท แคนซิโน ไบโอโลจิกส์ ของจีน ใช้อะดีโนไวรัสด้วยเทคโนโลยีไวรัล เวกเตอร์ (Viral Vector) ซึ่งผลการทดสอบกับอาสาสมัครไม่มีอาการข้างเคียงรุนแรง และปริมาณตัวยาชนิดสูดดม ใช้เพียง 1 ใน 5 ของโดสยาวัคซีนชนิดฉีด สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้เทียบเท่ากับวัคซีนแบบฉีด 1 โดส
นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนโควิด ชนิดพ่นจมูก ของบริษัทไมส์ซา (Meissa) ในสหรัฐฯ ใช้เพียงโดสเดียว ซึ่งผลการทดลองในห้องแล็บ สามารถยับยั้งสายพันธุ์อัลฟา และเบตาได้ จากการสร้างภูมิคุ้มกันได้ 8 เท่า ภายใน 25 วัน ช่วยลดการแพร่เชื้อทางสารคัดหลั่งในจมูก ป้องกันความเสี่ยงในการแพร่เชื้อให้กับผู้อื่น
ขณะที่ผู้ผลิตวัคซีนไฟเซอร์ ในสหรัฐฯ กำลังทดลองวิจัยวัคซีนโควิดชนิดยาเม็ดสำหรับรับประทาน ในระยะที่ 3 เพื่อยับยั้งไม่ให้ผู้ป่วยที่เริ่มแสดงอาการ มีอาการรุนแรงมากขึ้น คาดจะวางจำหน่ายภายในสิ้นปี 2564 นี้
อย่างไรก็ตาม ทางองค์การอนามัยโลก เตรียมอนุมัติการใช้วัคซีนโควิดรุ่นใหม่กว่า 10 รุ่น ในปลายปี 2564 หรืออย่างช้าในปี 2565 ภายหลังการทดสอบประสิทธิภาพทางคลินิก และกระบวนการทบทวนทางกฎหมาย ประกอบด้วยวัคซีนแบบเข็มเดียว วัคซีนแบบพ่น และแบบแผ่นแปะผิวหนัง สามารถจัดเก็บในอุณภูมิห้องได้ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกช่วยลดการใช้ไฟฟ้าในการเก็บรักษาวัคซีนในตู้ทำความเย็น
ความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนโควิด สัญชาติไทย “ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา” ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ในฐานะนักไวรัสวิทยา ออกมาระบุ ขณะนี้ทีมวิจัยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องไวรัล เวกเตอร์ (Viral vector) ได้พัฒนาวัคซีนชนิดแบบหยอดจมูก โดยชนิดแรกนำไวรัสไข้หวัดใหญ่ หรือ Influenza virus มาตัดแต่งให้เชื้ออ่อนลง ผสมกับสไปค์ของโควิด ซึ่งเมื่อนำเลือดในหนูทดลองมาดู พบว่าปอดมีแอนติบอดี้สูง และผลการวิจัยระดับภูมิคุ้มกันในหนูทดลองได้ตีพิมพ์ไปแล้ว ขณะนี้กำลังต่อคิวทดสอบประสิทธิภาพ โดยร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรม
ส่วนชนิดที่สองได้ทุนวิจัยจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ มีการนำไวรัสอะดีโน (Adenovirus) ที่มีการแสดงออกของโปรตีนสไปค์ (Spike) โดยพ่นเข้าจมูกผ่านละอองฝอย ซึ่งผลทดสอบในหนูทดลองที่ฉีดเชื้อโควิดเข้าไป และได้รับการพ่นวัคซีน 2 เข็ม พบว่าไม่มีอาการป่วย หรือตาย สามารถกินอาหารได้ปกติ และน้ำหนักไม่ลด
ขณะนี้ทีมวิจัยอยู่ระหว่างดูข้อมูลปริมาณไวรัสในปอดของหนูทดลอง ก่อนนำข้อมูลเสนอไปยังอย. เพื่อขออนุมัติการทดสอบในมนุษย์เฟส 1 และเฟส 2 พร้อมประสานบริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด ซึ่งมีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน นำวัคซีนไปใช้ทดสอบได้จริง คาดจะมีข่าวดีภายในปีหน้า
“นวัตกรรมฉีดพ่นวัคซีนเข้าจมูก ไม่ใช่เรื่องใหม่ อย่างวัคซีนไข้หวัดใหญ่ มีการฉีดพ่นมานาน แต่ไม่แพร่หลาย และอาจเป็นตัวเปลี่ยนเกมวิกฤติโควิด เพราะเมื่อพ่นเข้าจมูก ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันในระบบเยื่อเมือกบริเวณโพรงจมูก กรณีได้รับเชื้อโควิดจะมีภูมิคุ้มกันต่อต้านโดยตรง ทำให้ไวรัสไม่สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ อาจนำมาปรับใช้กับสายพันธุ์เดลตา ซึ่งแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว”.
ขอบคุณ ไทยรัฐ