สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอนยืนยัน ไม่มีการกลั่นแกล้ง ครูบีม ครูดอยที่กำลังมีกระแสดราม่า แต่จากการประเมิน ไม่ผ่านจริงๆ
จากกรณี ครูบีม ครูที่สอนเด็กๆ บนดอย และเจ้าของเพจ แฟนเพจเฟซบุ๊ก Beam Channel สาวลัวะอยากเป็นยูทูปเบอร์ ที่เล่าเรื่องราวของตนเองว่า ตนต้องรับการรักษาผ่าตัดอาการมดลูกฉุกเฉิน แต่พอกลับไปทำงานอีกครั้งกลับถูกบีบบังคับให้ลาออกจากถูกประเมินให้ไม่ผ่าน จนเกิดกระแสในโลกออนไลน์ เรียกร้องความเป็นธรรมให้คุณครูบีม
ความคืบหน้าล่าสุด วันนี้ (23 ก.ย.64) ณ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2 นางสาวกัญญาพัชร พงษ์ดี รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2, นางสาวสิริกร ชุ่มเชย ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารงานบุคคล, ว่าที่ ร.ต. คมกริช พิกุล นิติกรชำนาญการ, พ.ต.ท. สนั่น กาวิ ได้รับมอบหมายจาก ผกก.ตชด. 33 , ร.ต.อ. กิตติกร พงษ์ไทย รรท.ผบ.ร้อย ตชด. 337 และ ด.ต. อริยะ ธันยพรประทาน ครูใหญ่ ศกร.ตชด.บ้านวาทู ได้ร่วมชี้แจงข้อเท็จจริง กรณี นางสาววรกานต์ เกตุรัตนสมบูรณ์ หรือ ครูบีม อดีตครูอัตราจ้างได้ร้องผ่านสื่อ ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวานนี้ ระบุ ถูกบีบให้ลาออกอย่างไม่เป็นธรรมในปี 2562 หลังมีความจำเป็นต้องเข้ารักษาตัวหลังพบอาการป่วยเป็นเนื้องอกที่ปีกมดลูกทั้งสองข้าง ทำให้ต้องผ่าตัดและรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลาหลายเดือน ได้มีการส่งใบลาย้อนหลัง แต่กลับถูกครูใหญ่ของโรงเรียนดังกล่าวบีบให้ลาออก และมีการประเมินให้ไม่ผ่านเกณฑ์
นางสาวกัญญาพัชร พงษ์ดี รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2 กล่าวชี้แจ้งเบื้องต้นว่า กรณี นางสาววรกานต์ เกตุรัตนสมบูรณ์ ที่ร้องผ่านสื่อว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมหลังถูกบีบออกจากงานเพราะป่วยหนัก ไม่สามารถไปสอนได้นานหลายเดือน นั้น ทาง สพป.มส.2 ขอชี้แจ้งว่า ทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่ทาง สพฐ.กำหนด ทั้งนี้ ทาง ศูนย์การเรียนรู้ตำรวจตระเวนชายแดนบ้านวาทู ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงานลูกจ้างชั่วคราว เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ สพฐ กำหนด ผลคะแนนของผู้ร้อง ออกมา ประเมินเฉลี่ย ร้อยละ 59.33 ซึ่ง ผลการประเมินต่ำกว่าร้อยละ 60 กรรมการลงความเห็นควรเลิกจ้าง การดำเนินการเป็นไปอย่างถูกต้องไม่มีการกลั่นแกล้งแต่อย่างใด ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2562 โดยผู้ร้องได้มีการฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2562 ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และมีเจตนากลั่นแกล้งให้การประเมินไม่ผ่านเกณฑ์ การพิจารณาเพื่อเป็นข้ออ้างในการไม่ต่อสัญญา ซึ่งทางเขตได้มีการทำคำให้การแก้ฟ้องไปเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 และ ทำคำให้การเพิ่มเติมไปเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการะบวนการของศาลในการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมก่อนดำเนินการตามกระบวนการพิจารณาคดี ซึ่งทาง สพป.มส.2 และ ศกร.ตชด.บ้านวาทู ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบและขั้นตอนการปฏิบัติไม่ได้มีการกลั่นแกล้งผู้ร้องแต่อย่างใด
ทั้งนี้ นางสาววรกานต์ เกตุรัตนสมบูรณ์ ได้รับการจ้างให้เป็นลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งครูรายเดือนแก้ปัญหาสถานศึกษาขาดแคลนครูขั้นวิกฤติ ให้โรงเรียนคู่พัฒนาของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) วิชาเอกภาษาอังกฤษ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560
โดย สพฐ. ได้จัดสรรอัตราลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งดังกล่าวเพื่อให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2 มีหน้าที่ดำเนินการสรรหาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ สพฐ. กำหนด และเบิกจ่ายค่าจ้าง เมื่อครบกำหนดการว่าจ้างต้องมีการประเมินเพื่อจ้างต่อ ซึ่ง สพป.แม่ฮ่องสอน เขต 2 จะดำเนินการจ้างเมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณจาก สพฐ. และผู้ที่จะได้รับการทำสัญญาจ้างต้องมีผลการประเมินการปฏิบัติงาน มากกว่าร้อยละ 60
ที่ผ่านมา ศูนย์การเรียนรู้ตำรวจตระเวนชายแดนบ้านวาทู ได้แต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผล การปฏิบัติงานของลูกจ้างชั่วคราวที่ได้รับจัดสรรจาก สพฐ. ที่ 16/2562 ลงวันที่ 20 กันยายน 2562 ประกอบด้วย
- ด.ต. อริยะ ธันยพรประทาน ครูใหญ่ ศกร.ตชด.บ้านวาทู ประธานกรรมการ
- นายสุภัค อมรใฝ่วจี ประธานกรรมการสถานศึกษา กรรมการ
- ส.ต.ท.ณัฐภูมิ จันทร์บ่อแก้ว ครู ต.ช.ด.บ้านวาทู กรรมการและเลขานุการ
เพื่อประเมินผลการปฏิบัติงาน นางสาววรกานต์ เกตุรัตนสมบูรณ์ ตำแหน่งครูขาดแคลนขั้นวิกฤต โดยสรุปผล การประเมินต่ำกว่าร้อยละ 60 (ประเมินเฉลี่ย ร้อยละ 59.33) และกรรมการลงความเห็นควรเลิกจ้าง พร้อมทั้งแจ้ง ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2 ทราบ และมีหนังสือแจ้งรายละเอียด การประเมินผลการปฏิบัติงาน (เพิ่มเติม) และ ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมถึงเหตุผล ที่ไม่ผ่านการประเมินประเด็นการปฏิบัติงานราชการ ดังนี้
1) ระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม – 24 มิถุนายน 2562 ผู้ถูกประเมินรายดังกล่าวไม่มาปฏิบัติหน้าที่สอนในโรงเรียนโดยไม่ทราบสาเหตุ และไม่รายงานผู้บังคับบัญชาตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม – 24 มิถุนายน 2562
2) ผู้ถูกประเมินลาป่วยตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน – 15 กรกฎาคม 2562 (ลาตามสิทธิ์ที่ผู้อำนวยการโรงเรียน ตชด.บ้านวาทู ลงนาม) ตามใบรับรองแพทย์ที่ให้พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลระหว่างวันที่ 25 – 29 มิถุนายน 2562 และให้พักรักษาตัวที่บ้านระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – 30 กรกฎาคม 2562 (ตามความเห็นแพทย์)
3) ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม – 28 สิงหาคม 2562 ผู้ถูกประเมินไม่มาปฏิบัติหน้าที่และไม่แจ้งผู้บังคับบัญชาทราบแต่อย่างใด
4) ระหว่างวันที่ 16 – 30 กันยายน 2562 ผู้ถูกประเมินไม่มาปฏิบัติหน้าที่และไม่แจ้งผู้บังคับบัญชาทราบแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ได้มีกล่าวตักเตือนผู้รับการประเมินด้วยวาจาหลายครั้ง แต่กลับถูกตอบโต้ด้วยถ้อยคำที่ประชดประชัน ไม่ยอมรับในสิ่งที่ผู้บังคับบัญชาว่ากล่าวตักเตือนและไม่ปรับปรุงแก้ไขตัวเอง คณะกรรมการจึงได้ประชุมหารือร่วมกัน และให้ครูในโรงเรียนและชุมชนมีส่วนร่วมเพื่อใช้ประกอบการประเมินการปฏิบัติงาน พร้อมทั้งได้แจ้งให้เจ้าตัวรับทราบผลการประเมินทางวาจา และแจ้งให้เจ้าตัวทราบทางไลน์แล้ว แต่เจ้าตัวไม่ยอมมาเซ็นต์รับทราบผลการประเมิน (มีหลักฐานยืนยันจากโรงเรียน)
อย่างไรก็ตามการประเมินในครั้งนี้ มีครูอัตราจ้าง ได้รับคะแนนประเมินผลการปฏิบัติงานต่ำกว่าร้อยละ 60 และไม่ได้รับการต่อสัญญาจ้างจำนวน 2 ราย อีกรายยอมรับในหลักเกณฑ์ แต่ทาง นางสาววรกานต์ แจ้งขอเข้าพบ ผอ.สพป.แม่ฮ่องสอน เขต 2 เพื่อขอดูผลคะแนนการประเมินจากครูใหญ่ รร.ต.ช.ด. บ้านวาทู ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 แต่เนื่องจาก ผอ.สพป.แม่ฮ่องสอน เขต 2 ติดราชการ จึงให้เข้าพบรอง ผอ.สพป.แม่ฮ่องสอน เขต 2 ผู้รักษาราชการแทน โดย นางสาววรกานต์ ได้ยื่นแบบประเมินผลการปฏิบัติงานที่ไม่มีผู้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง และ มีกรรมการประเมินจำนวน 2 ราย ซึ่งกรรมการตามคำสั่งที่อ้างถึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ สพฐ. กำหนด
หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ทาง สพป.แม่ฮ่องสอน เขต 2 ได้มีแผนในการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น แก่ผู้ร้อง คือ ให้จ้างเป็นลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งครูดูแลนักเรียนประจำโรงเรียนพักนอน ก่อนที่ผู้ร้องจะยื่นเรื่องฟ้องศาลปกครอง จนเป็นเรื่องราวมาถึงปัจจุบัน
ขอบคุณ sanook.com