โรคฝีดาษลิง หรือ Monkeypox เริ่มแพร่ขยายหลายประเทศ ทั้งอังกฤษ ยุโรปและสหรัฐอเมริกา กรมควบคุมโรค เผยติดจากสัตว์สู่คนได้ แม้มีโอกาสติดน้อยแต่ต้องระวัง พร้อมแนะวิธีการป้องกันตนเอง
เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2565 สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า แพทย์ในสหรัฐอเมริกา รายงานพบผู้ติดเชื้อ “ฝีดาษลิง” คนแรกของปี 2565 จากผู้ที่มีประวัติเดินทางไปแคนาดาเ มื่อปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยแพทย์ระบุว่า ขณะนี้กำลังตรวจสอบความเชื่อมโยงกับการระบาดของฝีดาษลิงที่พบในยุโรป แต่ยังไม่จัดเป็นอันตรายต่อสาธารณชนเป็นวงกว้าง
ขณะที่ในยุโรป พบการระบาดในหลายประเทศ จากช่วงต้นสัปดาห์ที่มีรายงานการพบผู้ติดเชื้อในอังกฤษ ต่อมาพบระบาดในสเปน โปรตุเกส ล่าสุดมีรายงานพบผู้ติดเชื้อคนแรกในสวีเดนและอิตาลี ซึ่งสเปนกำลังตรวจสอบ 23 คนเพื่อยืนยันการติดเชื้อ ส่วนในทวีปอเมริกาพบที่แคนาดาและสหรัฐฯ
องค์การอนามัยแพนอเมริกัน เปิดเผยว่า หน่วยงานสาธารณสุขในโปรตุเกสพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง 5 คน ส่วนมากเป็นผู้ชายอายุน้อย มีแผลพุพองตุ่มหนอง อาการทรงตัว แต่ไม่ได้เปิดเผยว่ามีประวัติการเดินทางไปทวีปแอฟริกาหรือไม่ โดยโปรตุเกสตั้งคณะทำงานติดตามการระบาดของฝีดาษลิง เพราะกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาด แต่ขอให้ประชาชนไม่ตื่นตระหนก เพราะความเสี่ยงเกิดการระบาดต่ำ
ฝีดาษลิงพบการระบาดในสหรัฐฯ และที่อื่นๆ ได้ไม่บ่อยนัก หากพบผู้ติดเชื้อจะพบความเชื่อมโยงกับการเดินทางไปประเทศที่พบการระบาดเป็นประจำ ทั้งในแอฟริกากลาง แอฟริกาตะวันตก
การระบาดครั้งนี้สร้างความกังวลว่าโลกอาจต้องเจอกับการระบาดใหญ่อีกหรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญเน้นย้ำว่าต่างจากโควิด-19 เพราะแพร่ระบาดจากคนสู่คนยากกว่า และต้องไม่สับสนระหว่างฝีดาษลิง Monkeypox ไม่ใช่โรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ Smallpox แม้เป็นไวรัสวงศ์เดียวกัน แต่ความรุนแรงต่างกันมากพอสมควร ซึ่งเป็นข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC)
ฝีดาษลิงพบระบาดครั้งแรกในลิงที่เลี้ยงไว้เพื่อการวิจัยเมื่อปี 2501 แต่ปัจจุบันพาหะนำโรคคือ หนู ที่เป็นสัตว์ฟันแทะ โดยมีรายงานว่าพบในโลกตะวันตกครั้งแรกเมื่อปี 2546
การแพร่ระบาดเกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดแบบใช้เวลาอยู่ร่วมกันนานๆ ระบาดระหว่างสัตว์ด้วยกัน สัตว์สู่คน และคนสู่คนได้ จากการสัมผัสถูกแผลพุพอง ตุ่มหนอง จะได้รับไวรัส หรือผ่านละอองฝอยขนาดใหญ่ น้ำลาย เป็นต้น ต่างจากโควิด-19 ที่ติดจากละอองฝอยขนาดเล็กที่ลอยฟุ้งในอากาศ
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางประเทศตั้งข้อสังเกตว่า การระบาดครั้งนี้อาจเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ แต่ขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญบางส่วนยังสรุปไม่ได้ พร้อมยกตัวอย่างในอังกฤษที่ผู้ติดเชื้อบางคนไม่มีความเชื่อมโยงกัน
ข้อมูลจาก National Health Service (NHS) หรือระบบบริการสุขภาพแห่งชาติอังกฤษ ระบุว่า อาการคือเป็นไข้ ปวดเมื่อย ปวดหลัง ปวดหัว เป็นผื่น ตุ่มหนองพุพอง ต่อมน้ำเหลืองบวมโต เหนื่อย หนาวสั่น อาการเริ่มต้นเหมือนไข้หวัด คล้ายโควิด-19 ทำให้แพทย์บางส่วนเตือนให้ประชาชนสังเกตอาการตัวเอง ซึ่งผื่นจะขึ้นหลังเริ่มมีอาการป่วยราว 1-5 วัน คล้ายผื่นอีสุกอีใส
ขณะที่การรักษาโดยตรงยังไม่มี เป็นการรักษาตามอาการเพื่อบรรเทา ส่วนมากไม่ได้ป่วยหนัก อาการต่างๆ จะหายไปใน 2-4 สัปดาห์ วิธีรับมือที่ดีที่สุดยังเป็นการป้องกัน โดยใช้วัคซีนไข้ทรพิษ ซึ่งได้ผลราว 85%
สำหรับโรคฝีดาษ องค์การอนามัยโลก ประกาศว่า ถูกกวาดล้างหมดไปจากโลกนี้แล้วตั้งแต่ปี 2523 อย่างไรก็ตามยังคงมีการเก็บเชื้อไว้ในห้องปฏิบัติการภายใต้การดูแลอย่างเข้มงวด เพื่อศึกษาวิจัย เนื่องจากมีความกังวลว่าเชื้ออาจกลับมาระบาดอีกครั้ง
วันที่ 20 พ.ค. 2565 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากรายงานข่าวที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก กรณีสหราชอาณาจักรพบผู้ติดเชื้อ โรคฝีดาษลิง เพิ่ม 4 คน รวมเป็น 7 คนนั้น โรคฝีดาษลิงไม่ใช่โรคใหม่ เคยระบาดมาแล้วมากกว่า 20 ปี โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus เช่นเดียวกับไวรัสอีกหลายชนิด ได้แก่ ไวรัสที่ทำให้เกิดฝีดาษในคนหรือไข้ทรพิษ (variola virus) ไวรัสที่นำมาผลิตวัคซีนป้องกันฝีดาษในคน (vaccinia virus) และฝีดาษวัว (cowpox virus) เชื้อไวรัสฝีดาษลิงพบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก, หนูป่า เป็นต้น รวมทั้งคนก็สามารถติดโรคได้
ขณะที่ คนสามารถติดโรคจากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดข่วน การประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ป่า หรือกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ หรืออาจติดทางอ้อมจากการสัมผัสที่นอนของสัตว์ป่วย การแพร่เชื้อจากคนสู่คนแม้มีโอกาสน้อย แต่อาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยผ่านทางสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ ผิวหนังที่เป็นตุ่ม หรืออุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อ
จากนั้น เมื่อคนรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน อาจนานถึง 21 วัน โดยอาการเริ่มแรกจะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หนาวสั่น อ่อนเพลีย จากนั้นประมาณ 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา และอาจจะเกิดบนหน้าและลำตัวได้ด้วย ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา อาการป่วยจะประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ โดยอาการรุนแรงมักพบในกลุ่มเด็ก ซึ่งในประเทศแอฟริกาพบอัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 10
สำหรับการป้องกันควบคุมโรค เริ่มต้นด้วยการป้องกันตนเอง คือ 1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า 2. หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ 3. หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ หรือเดินทางเข้าไปในป่า 4. ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการคัดกรองโรค 5. กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักเพื่อมิให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคฝีดาษลิงที่เฉพาะเจาะจง แต่สามารถควบคุมการระบาดได้ด้วย การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ ซึ่งสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ 85% โดยก่อนหน้าที่จะกวาดล้างไข้ทรพิษได้นั้นมีการฉีดวัคซีนหรือที่เรียกกันว่าการปลูกฝี ซึ่งจะช่วยป้องกันทั้งสองโรคนี้ได้ อย่างไรก็ตาม เด็กที่เกิดหลังปี 2523 จะไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อน จึงเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิงมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422.
ขอบคุณ ThaiPBS/มติชน