สรุปไทม์ไลน์การหายตัวไปของ Urboy TJ ตั้งแต่ประกาศว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและไบโพล่า จนพบตัว ด้านโฆษกกรมสุขภาพจิต ได้แนะสัญญาณเตือนของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า พร้อมแนะนำว่าแค่รับฟังก็สามารถช่วยผู้ป่วยได้
หลังจากที่ช่วงเย็นๆ ของเมื่อวานนี้ (24 มิ.ย. 65) เกิดเหตุที่ทำเอาหลายๆ คนเป็นห่วงแร็ปเปอร์หนุ่มยัวร์บอยชื่อดัง ยัวร์บอย ทีเจ หรือ เต๋า ทีเจ จิรายุทธ ผโลประการ ได้ออกมาแจ้งข่าวให้ทุกคนทราบว่าป่วยซึมเศร้าและไบโพลาร์ขั้นวิกฤติ และได้ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำไปแต่ไม่สำเร็จ จึงขอพักงานไปรักษาตัวก่อน ซึ่งหลังจากที่เจ้าตัวแจ้งเรื่องดังกล่าวไปก็มีแฟนๆ เข้ามาคอมเมนต์ส่งกำลังใจนักร้องหนุ่มในการไปพักรักษาตัว
แต่เมื่อกลางดึก (25 มิ.ย. 65) ก็เกิดเหตุการณ์ที่ทำเอาหลายๆ คนเป็นห่วงนักร้องหนุ่มอีกครั้ง ซึ่งเพื่อนๆ และคนใกล้ชิดได้ทวีตตามหา ยัวร์บอย ทีเจ ก่อนที่จะพบตัวนักร้องหนุ่มในตอนเช้ามืดของวันเดียวกัน บันเทิงไทยรัฐออนไลน์จึงขอสรุปไทม์ไลน์ของแร็ปเปอร์หนุ่มให้ทราบอย่างง่ายๆ
- ในไอจีสตอรี่ของ ยัวร์บอย ทีเจ ได้โพสต์ข้อความส่งสัญญาณคล้ายเป็นการบอกลา มีข้อความว่า “Maybe we’ll meet up again in the “Next Life”” (บางทีเราคงเจอกันอีกทีชาติหน้า)
- วันที่ 24 มิ.ย. เวลาประมาณ 17.00 น. ยัวร์บอย ทีเจ ได้แจ้งข่าวว่าป่วยโรคซึมเศร้าและไบโพลาร์ ขั้นวิกฤติ และได้ทำสิ่งที่ไม่ควรทำไปแต่ไม่สำเร็จ จึงขอพักงานไปรักษาตัว
- ช่วงกลางดึกของคืนวันที่ 25 มิ.ย. ผู้จัดการส่วนตัว ยัวร์บอย ทีเจ ได้แคปข้อความไลน์ที่ ยัวร์บอย ทีเจ ส่งมาหาช่วงเวลา 01.35 น. ขอบคุณเพื่อนและสั่งลา และรีบโพสต์ข้อความว่าใครเห็นรถปอร์เช่สีเขียววิ่งไปทางไหนให้โทรแจ้งด้วย
- เมื่อเวลา 01.58 น. ป๊อป ปองกูล เพื่อนสนิทอีกคนของยัวร์บอย ทีเจ ได้ทวีตข้อความตามหาเพื่อนว่า “ใครพบเห้น เต๋า Urboytj ตั้งแต่เวลา 01.35 ของวันนี้ ช่วยติดต่อกลับมาหน่อยครับ จะทางข้อความนี้ หรือ ทางig ผมก็ได้ครับ
- 1 ชั่วโมงหลังจากที่ ป๊อป ประกาศตามหาเพื่อน ก็ได้อัปเดตว่า ยังไม่พบตัวนักร้องหนุ่ม และเห็นว่าออกไปทางมอเตอร์เวย์
- และในเวลา 05.47 น. เพื่อนของ ยัวร์บอย ทีเจ ก็ได้แจ้งข่าวให้ทราบว่านักร้องหนุ่มได้กลับบ้านแล้ว
ในเวลาต่อมานายแพทย์ วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต เปิดเผยกับทีมข่าว PPTV ว่า โรคซึมเศร้าเป็นส่วนหนึ่งของโรคจิตเวช เกิดจาก 3 สาเหตุหลักคือ ทางกาย, ทางใจ, และสังคม ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ มักจะได้รับผลกระทบกับการใช้ชีวิต ไม่อยากเจอใคร ไม่อยากคุยกับคนอื่น ไม่อยากทำงาน และเมื่อหนักเข้าก็เริ่มมีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง หรือ ฆ่าตัวตาย หากไม่ได้รับการรักษา
สำหรับสัญญาณเตือน ก่อนที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะฆ่าตัวตาย อย่างแรกสังเกตได้จากการใช้คำพูดชีวิตประจำวัน เช่น ไม่อยากมีชีวิตอยู่ การบอกลาสั่งเสีย พูดถึงวันเก่าๆ พูดถึงอนาคตที่ไม่มีชีวิตเขาอยู หรือการสังเกตสัญญาณจากโซเชียลมีเดียของผู้ป่วย ซึ่งปัจจุบันนี้ถือเป็นสัญญาณที่ชัดเจน ส่วนใหญ่มักจะโพสต์ภาพทำร้ายตัวเอง หรือภาพจอดำมืด ซึ่งไม่อยากให้ตีความว่าคนเหล่านี้เรียกร้องความสนใจ
โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า อย่างกรณีของ ยัวร์บอยทีเจ ก็เห็นสัญญาณในโซเชียลมีเดียส่วนตัวที่ชัดเจน โดยโพสต์ระบุเรื่องราวต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องการไม่มีคนที่รับฟัง สะท้อนให้เห็นถึงคนที่เป็นบุคคลสำคัญ ที่หลายคนอาจจะมองว่าเป็นคนแข็งแกร่ง สามารถจัดการกับปัญหาได้ แต่ในความจริงภายนอกดูเหมือนไม่ป่วย แต่กลับไม่มีคนรับฟัง ก็ทำให้มีความเครียดสูงได้ เพราะฉะนั้นการรับฟังใครสักคน ที่อยากจบชีวิตตัวเอง
นายแพทย์ วรตม์ ระบุอีกว่า เป็นทางออกแรกที่ทุกคนทำได้และไม่ใช่เรื่องยาก เพราะการให้ผู้ป่วยได้เล่าระบายความในใจออกมาก็ทำให้เขารู้สึกเบาแล้ว ส่วนการให้คำแนะนำว่า สู้ ๆ สามารถทำได้ แต่ต้องเข้าใจแล้วว่า ผู้ป่วยทำกำลังสู้กับอะไร
“สิ่งที่จำมากเป็นที่สุดคือ เราฟังเขาก่อนว่า เขากำลังทุกข์ใจเรื่องอะไร มีคนบอกว่า อย่าพูดว่า สู้ ๆ ได้ยินบ่อยว่า สู้ ๆ จริง ๆ สู้ๆพูดได้นะ ก็ต่อเมื่อเรารู้ว่าเขากำลังสู้อยู่กับอะไร ถ้าเราฟังเขาจนเข้าใจแล้วรู้ว่า เขากำลังสู้อยู่กับปัญหาแบบนี้ ปัญหาแบบนี้ ในมุมมองของเขาเป็นอย่างไรความเข้าใจของเขาเป็นอย่างไร เราจะสามารถให้กำลังใจหรือว่า บางทีการนั่งอยู่เฉยๆก็ถือว่าเป็นการให้กำลังใจแล้ว มีคนบอกว่า แค่เล่าก็เบาแล้ว เขาได้พูด ได้ระบายทุกอย่าง คนเราไม่ได้โชคดีที่จะมีคนรับฟัง แต่ถ้าคุณสามารถเป็นคนคนหนึ่งที่รับฟังใครสักคนได้ กรุณาเป็นคนนั้นนะครับ” นายแพทย์ วรตม์ กล่าว
แพทย์ชี้คนฆ่าตัวตายไม่สำเร็จ มีโอกาสก่อเหตุซ้ำ
ที่น่าสนใจคือ ผู้ป่วยที่พยายามฆ่าตัวตาย และทำไม่สำเร็จ นายแพทย์ วรตม์ ระบุว่า มีงานวิจัยพบว่าในรอบ 1 ปีแรก ผู้ที่มีโอกาสฆ่าตัวตายซ้ำ เกิดขึ้นตั้งแต่ 50 -90% เพราะฉะนั้นในช่วงระยะเวลา 1 ปีแรกหลังจากเกิดเหตุ ทางครอบครัวจะต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายซ้ำได้ ยิ่งในการก่อเหตุครั้งต่อไป ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะฆ่าตัวตายสำเร็จมากขึ้นตามไปด้วย
โดยโอกาสที่ว่าจะสามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่ นายแพทย์ วรตม์ กล่าวว่า โรคซึมเศร้าสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการกินยาและการทำจิตบำบัด ซึ่งเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ผู้ป่วยปรับตัวกับความเครียด รวมทั้งการรับมือกับอารมณ์ของตัวเอง โดยมีโอกาสที่การรักษาจะสำเร็จ บางคนดีขึ้นในระยะเวลาเพียง 6-8 เดือน จนสามารถใช้ชีวิตกลับมาเป็นปกติและหยุดยาได้ภายใน 1 ปี
ขณะที่ภาพรวมการฆ่าตัวตาย ในช่วง 2-3 ปี มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น 8 – 12% อย่างในปี 2563 ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต รายงานอัตราฆ่าตัวตายสำเร็จ 7 คน ต่อประชากร 100,000 คน