“กามสูตร” ฉบับอาหรับ สารพันเทคนิคกับหนังสือ ‘The Perfumed Garden’

เซ็กส์ของมนุษย์เกิดขึ้นมาในโลกตั้งแต่โบราณสมัย ซึ่ง อดัม และ อีวา ในสวนของพระเจ้า จะมีเซ็กส์กันอย่างไร ไม่ปรากฏหลักฐานทางวรรณคดี ไม่เหมือนกับวรรณคดีทางโลกตะวันออก เริ่มรจนาคัมภีร์เกี่ยวกับเซ็กส์กันตั้งแต่ดึกดำบรรพ์

วรรณคดีที่ดังที่สุด ได้รับการยอมรับแปลเป็นภาษาต่างประเทศเป็นการรจนาโดย กูรูอินตะระเดียชื่อ “วาตสยายน” (วาต-สะยา-ยะ-นะ) ชื่อ “กามสูตร”

วาตสยายน

ผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้สนใจเซ็กส์ มักจะเคยเห็น รูปปั้นชายหญิงมากมาย หลายท่าทาง ที่เรียกกันว่าเป็น “กามาสถาปัตย์” นั่นไม่ใช่จินตนาการของสถาปนิกรุ่นไหนๆ แต่เป็นผลพวงจากคัมภีร์อมตะของ วาตสยายน คนนี้คนเดียว

ข้อสังเกตที่น่าสนใจ วรรณคดีทางเรื่องราวของเซ็กส์มนุษย์ ปรากฏทางกลุ่มประเทศด้านตะวันออกมากกว่าตะวันตก นี่ก็ยืนยันได้อย่างหนึ่งว่า กลุ่มประเทศตะวันออกก้าวหน้ากว่าโลกตะวันตก หรือจะเป็นเพราะตะวันตกมัวแต่สร้างตุ๊กตายาง แต่ตะวันออกเล่น “ชายจริง-หญิงแท้” ก็แล้วแต่จะบริหารความคิดกันเองครับ ผู้เขียนไม่เกี่ยว

คัมภีร์กามสูตรของอินเดีย ไม่ใช่เล่มแรกของโลก เพราะเล่มแรกของโลกน่าจะเป็นของเมืองจีนที่เกิดมากว่า 3,000 ปี ขณะที่ของอินเดียเกิดมาประมาณ 1,300 กว่าปี อายุแก่กว่ากันเยอะเลย  หรือบางท่านที่ติดตามนิตยสารหรือเว็บไซต์ของศิลปวัฒนธรรมก็อาจจะเคยได้อ่านบทความเกี่ยวกับ “ผูกนิพานโลกีย์” ซึ่งเป็นวรรณกรรมซึ่งมีประเด็นเนื้อหาคล้ายกับคัมภีร์กามสูตร จนอาจเรียกได้ว่าเป็นกามสูตรสัญชาติไทย 

เชิงสังวาสแบบชาวบ้าน จิตรกรรมที่วัดหนองยาวสูง จังหวัดสระบุรี

วันนี้ The Middle Finger อยากจะมาขยายเรื่องทางเพศนี้มาเล่าสู่กันฟัง สำหรับบางคนโดยเฉพาะในสังคมไทย ก็เป็นเรื่องที่น่าเหนียมอายมาก ต้องทำเป็นไม่สนใจ แต่หากลองพิจารณาดูแล้วก็จะเห็นว่าในความเป็นจริงนั้น เรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมชาติ เกี่ยวข้องกับสุขภาพกายและสุขภาพจิตโดยตรง การศึกษาหาความรู้เรื่องนี้จึงมีความสำคัญในแง่การพัฒนาคุณภาพชีวิต ไม่ใช่ในแง่ของการตอบสนองความหมกมุ่นแต่อย่างใด

ประเด็นทางเพศนี้เป็นประเด็นที่น่าจะได้รับความสำคัญมานมนาน และมีความเป็นสากลเนื่องจากพบว่านอกจากไทยและอินเดียแล้วก็มีอีกหลายชาติที่มีตำราเก่าแก่ในศาสตร์ Erotology หรือศาสตร์ทางด้านพฤติกรรมและสิ่งเร้าทางเพศ ยกตัวอย่างตำราของเปอร์เซียเล่มหนึ่งซึ่งเขียนขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 หรือราว 500 ปีที่แล้ว มีชื่อว่า “The Perfumed Garden”

The Perfumed Garden เป็นวรรณกรรมภาษาอาหรับเขียนโดย Muhammad al-Nafwazi มีจุดประสงค์ในการเขียนคือ เพื่อเป็นคู่มือแนะแนวชายมุสลิมที่แต่งงานแล้ว โดยเนื้อหามีตั้งแต่ในเรื่องของ ท่าทาง การเล้าโลม ชื่อส่วนต่าง ๆ ของอวัยวะเพศชายและหญิง การเพิ่มขนาด มารยาและเล่ห์ลวงของสตรี และเรื่องต่าง ๆ ที่จะช่วยเติมเต็มชีวิตคู่

ฌอง - ลีออนเจอโรมของเรื่อง The Char Charmer (1870) นักวาดภาพชาวโอเรียนเต็ล

ทั้งนี้ในบทก่อนสุดท้ายนี้ พบว่าข้อมูลที่ไม่ใช่เพียงเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ในฐานะคู่รักเท่านั้น แต่ยังเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ยิ่งสำหรับการเตรียมตัวในการเป็นพ่อหรือแม่คน กล่าวคือให้คำแนะนำการสังเกตว่าภรรยากำลังตั้งครรภ์หรือไม่ ถ้าหากกำลังตั้งครรภ์อยู่จะรู้ได้อย่างไรว่าทารกที่อยู่ในท้องแม่นั้นเป็นเพศหญิงหรือชาย

The Middle Finger ให้คำแนะนำว่า สิ่งที่บ่งบอกว่าหญิงผู้นั้นกำลังตั้งครรภ์อยู่คืออาการง่วงนอนบ่อยครั้งจนผิดปกติ อาการหลับลึก ปากช่องคลอดแห้งทันทีหลังจากมีเพศสัมพันธ์ ปากช่องคลอดบีบตัวแคบลง หัวนมสีคล้ำ และการขาดหายของประจำเดือน ทั้งนี้หากพบว่าท้อง ให้สังเกตดูว่าแม่นั้นมีสีผิวคล้ำลง ดูไม่ผ่องใส ฝ้ากระขึ้น ฝันร้ายบ่อยครั้ง หัวนมมีสีคล้ำ มีภาวะเลือดออกที่จมูก รู้สึกหนักบริเวณด้านซ้ายของท้องหรือไม่ หากมีอาการเหล่านี้ก็สามารถคาดการณ์ได้ว่าลูกในท้องนั้นเป็นเพศหญิง ในทางกลับกัน หากในขณะท้อง แม่มีผิวพรรณผ่องใส สุขภาพดี หัวนมมีสีออกแดง รู้สึกหนักบริเวณด้านขวาของท้อง ก็คาดการณ์ได้ว่าน่าจะได้ลูกชาย นอกจากนี้ก็ยังแนะนำให้แม่ดื่มน้ำผสมน้ำน้ำผึ้งเพื่อบำรุงอีกด้วย

นอกจากนี้ในบทสุดท้ายของตำราซึ่งเป็นบทสรุปได้ให้ข้อมูลที่กล่าวว่า “เป็นประโยชน์มากที่สุด” นั่นคือคำแนะนำทางด้าน “อาหารเสริมสมรรถภาพ” โดยในที่นี้คือให้รับประทานไข่แดงทุกวันไม่เอาไข่ขาว อีกทั้งยังแนะนำเมนูอาหารเช่น หน่อไม้ฝรั่งต้มแล้วนำไปผัดในน้ำมันกินกับไข่ปรุงรส หัวหอมผัดไข่ปรุงรสให้หอม นมอูฐผสมน้ำผึ้ง หรือไข่ต้มปรุงรสและกลิ่นด้วยมดยอบ อบเชย และพริกไทยที่จะทำให้ตื่นตัวร่วมกิจกรรมได้ทั้งคืน เป็นต้น ทั้งนี้อาหารที่แนะนำให้รับประทานเป็นหลักก็คือไข่ คล้ายกับสูตรสมัยใหม่ของไทยที่บันทึกไว้ในหนังสือ ประวัติคณะสงฆ์ไทยกับธรรมยุติกประหาร เขียนโดย ฐานิสสร อ้างว่าเป็นสูตรจากเจ้านาย ซึ่งเมื่อดูจากส่วนประกอบแล้วคาดว่าสูตรนี้เกิดขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 4 หรือหลังจากนั้น สูตรที่ว่าก็คือให้รับประทานไข่ไก่ผสมบรั่นดี เนยจืดและพริกไทย แล้วนอนพักประมาณ 1 ชั่วโมง

“The Perfumed Garden” ในฉบับแปลภาษาอังกฤษเขียนด้วยสำนวนแบบวิชาการ ไม่ทะลึ่งตึงตัง แม้ว่าจะมีคำศัพท์ที่เป็นชื่อเล่นที่ตั้งให้กับอวัยวะเพศชายที่มีลักษณะเฉพาะ อ่านแล้วต้องแอบอมยิ้มบ้างอย่างเช่น ‘นกพิราบ’ ‘คอยาว’ ‘แพะ’ ‘ยักษ์ไซคลอปส์’ เป็นต้น แต่ก็เป็นการเปรียบเทียบที่น่าจะทำให้เห็นภาพและจินตนาการง่ายยิ่งขึ้น (หรือเปล่า?) ไม่ทำให้ประเด็นเรื่องเพศดูเป็นเรื่องน่ารังเกียจแต่อย่างใด

หนังสือเล่มนี้แปลเป็นภาษาอังกฤษโดย เซอร์ ริชาร์ด เบอร์ตัน (Sir Richard Burton) นักสำรวจชาวอังกฤษผู้มีผลงานการแปลหนังสือชื่อดังอย่าง มหัศจรรย์แห่งพันหนึ่งราตรี (The Book of the Thousand Nights and a Night)

การที่เบอร์ตันเลือกหนังสืออย่างเรื่อง The Perfumed Garden ซึ่งมีเนื้อหาเรื่องเพศเป็นประเด็นหลักมาแปลจนจบเล่มนี้ ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจมิใช่น้อยหากลองพิจารณาดูว่าเบอร์ตันเกิดในยุควิคตอเรียนของอังกฤษที่การพูดหรือการแสดงออกว่าสนใจเรื่องเพศเป็นเสมือนเรื่องต้องห้ามและน่าอับอาย ซึ่งวัฒนธรรมดังกล่าวในยุควิกตอเรียนก็ยังได้ส่งผลมายังสังคมเมืองไทยจนถึงทุกวันนี้ทำให้คนไทยเขินอายที่จะพูดเรื่องเพศ แต่ในขณะเดียวกันก็พบว่าบทความเกี่ยวกับเรื่องเพศในเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรมมักจะติดอันดับยอดไลค์และแชร์อยู่เสมอ ๆ