หมอยง ภู่วรวรรณ ให้ความรู้เกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ผ่านเฟซบุ๊ก หลังศึกษาภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีน AstraZeneca (แอสตราเซเนกา) ในคนไทย พบว่า สร้างภูมิต้านทานได้ถึงร้อยละ 96.7 ในผู้ป่วย ตรวจพบได้ร้อยละ 92.4
วันที่ 3 พฤษภาคม 2564 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความให้ความรู้เกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan หลังจากทางศูนย์ได้ศึกษาภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีน AstraZeneca (แอสตราเซเนกา) ในคนไทย หลังเข็มแรกเป็นระยะเวลา 1 เดือน จำนวน 61 คน เป็นการรายงานเบื้องต้น
ภูมิต้านทานที่ตรวจพบ มีการตอบสนอง ตรวจวัดภูมิต้านทานได้ถึงร้อยละ 96.7 เมื่อเปรียเทียบกับการตรวจวัดภูมิต้านทานในผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อเป็นระยะเวลา 4-8 สัปดาห์ ตรวจพบได้ร้อยละ 92.4 ดังแสดงในรูป
ระดับภูมิต้านทานที่ตรวจวัดได้ มีค่าตัวกลางเรขาคณิตเท่ากับ 40.61 u/ml เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อ มีค่าเท่ากับ 60.86 u/ml ดังแสดงในรูป พบว่าระดับภูมิต้านทานที่พบเพศหญิงจะให้ระดับภูมิต้านทานที่สูงกว่าเพศชาย อายุที่น้อยกว่า 60 ปีจะมีระดับภูมิต้านทานที่สูงกว่าผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี
ขณะนี้กำลังรอวิเคราะห์ข้อมูลที่มีจำนวนมากขึ้นกว่านี้ และจะมีการตรวจเลือดหาภูมิต้านทานก่อนฉีดเข็มที่ 2 อีก 1 ครั้ง และหลังเข็ม 2 แล้ว 1 เดือน ภูมิต้านทานน่าจะมีระดับสูงมาก และอยู่นาน
จากข้อมูลดังกล่าวพอสรุปได้ว่า แม้จะฉีดวัคซีน AstraZeneca เพียงเข็มเดียว ระดับภูมิต้านทานที่ตรวจวัดได้ก็เป็นที่น่าพอใจ
มีอยู่ 1 ราย ที่ฉีดวัคซีน Sinovac เข็มแรกแล้วเกิดอาการแพ้ เลยฉีดเข็มที่ 2 ใน 3 อาทิตย์ต่อมา ด้วยวัคซีน AstraZeneca และตรวจเลือดเมื่อ 1 เดือนหลังฉีดวัคซีน AZ พบระดับภูมิต้านทานสูงมาก สูงถึง 241 u/ml อย่างไรก็ตามยังไม่มีการศึกษาการฉีดวัคซีนเปลี่ยนชนิดกัน
ในกรณีที่เกิดเหตุการฉีดวัคซีนต่างชนิดกัน ขอความกรุณาติดต่อผมขอตรวจภูมิต้านทานด้วย เพื่อเก็บเป็นข้อมูลและรวมถึงอาการข้างเคียงที่อยากทราบมาก และการเปลี่ยนชนิดของวัคซีนเป็นเรื่องที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง
การปูพรมฉีดเข็มเดียวไปก่อนให้ได้ประชากรมากที่สุด ด้วยวัคซีน AstraZeneca จะได้ประโยชน์สูงสุดแล้วตามด้วยกระตุ้นอีก 10 ถึง 12 สัปดาห์ต่อมา หรือนานกว่านั้น
หมายความว่าในช่วง 3 เดือนแรก น่าจะปูพรมการฉีดวัคซีนไปเลย ถ้าฉีดได้เดือนละ 10 ล้านคน ก็สามารถปูพรมไปได้ถึง 30 ล้านคนทีเดียว แล้วหลังจากนั้นก็ตามกระตุ้นรวมทั้งฉีดรายใหม่เพิ่มขึ้นด้วย ก็จะได้เป้าหมายอย่างรวดเร็ว และถ้ามีวัคซีนชนิดอื่นมาเสริมด้วยแล้ว จะทำให้การให้วัคซีนกับประชาชนหมู่มากประสบผลสำเร็จเร็วยิ่งขึ้น.