กรมอุตุฯ ยืนยัน น้ำท่วมปี 2564 ไม่เท่าปี 2554 แน่นอน พร้อมเผยสถิติเปรียบเทียบให้เห็นอย่างชัดเจน
วันที่ 30 ก.ย.2564 ดร.ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยรุนแรงที่หลายจังหวัดกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง นั้น หลายคนมีความกังวลว่าจะมีน้ำท่วมหนักเหมือนปี 2554 หรือไม่ กรมอุตุนิยมวิทยา ขอยืนยันว่า สถานการณ์อุทกภัยดังกล่าวมีความแตกต่างจากปี 2554
ดร.ณัฐพล กล่าวต่อว่า ซึ่งหากวิเคราะห์จากสถิติข้อมูลอุตุนิยมวิทยา พบว่าภาพรวมของการเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 กับปี 2564 จะมีความแตกต่างกัน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบปริมาณฝนที่ตกระหว่างเดือนม.ค.-ก.ย. พบว่าในปี 2554 ปริมาณฝนเกือบทุกภาคสูงกว่าปี 2564 ยกเว้นภาคตะวันออกที่ปี 2564 สูงกว่า ปี 2554 เล็กน้อย และในภาพรวมทั้งประเทศพบว่า ปี 2554 มีฝนมากกว่า ปี 2564 ถึง 20%
2.เปรียบเทียบพื้นที่และการกระจายของฝน ตั้งแต่ช่วงก่อนและเข้าสู่ฤดูฝน พบว่า ในปี 2554 พื้นที่ที่มีฝนตกและตกต่อเนื่องได้แก่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ทำให้มีปริมาณน้ำสะสมเป็นจำนวนมากในลุ่มน้ำสายหลัก รวมทั้งเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ เต็มความจุตั้งแต่ต้นปี และในช่วงกลางฤดูฝนถึงปลายฤดูฝน การระบายน้ำสามารถทำได้น้อยเนื่องจากมีฝนตกต่อเนื่อง ทั้งเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน ขณะที่ในปี 2564 ช่วงก่อนเข้าสู่ฤดูฝน (เม.ย.-ต้น พ.ค.) การกระจายฝนดี แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนพบว่า ปริมาณฝนที่ตกน้อยลง โดยเฉพาะช่วงปลายเดือน พ.ค.-มิ.ย. มีปริมาณฝนน้อยและบางพื้นที่มีฝนทิ้งช่วงหลายสัปดาห์
ดร.ณัฐพล กล่าวอีกว่า 3.เปรียบเทียบอิทธิพลจากพายุหมุนเขตร้อนพบว่า ในปี 2554 เดือนมิ.ย. ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศไทยตอนบนและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทย และในช่วงปลายเดือนมิ.ย.2554 ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่อ่อนกำลังลงจากพายุดีเปรสชัน “ไหหม่า” ในประเทศลาว ทำให้มีฝนตกหนัก หลายพื้นที่
ต่อมาในเดือนก.ค.2554 ฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชัน “นกเตน” ที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณ จ.น่าน นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับอิทธิพลทางอ้อมจากพายุอีก 3 ลูก ได้แก่ พายุ ไห่ถาง เนสาด และ นัลแก ขณะที่ในปี 2564 ช่วงปลายฤดูฝน เดือนก.ย. มีพายุที่เข้าสู่ประเทศไทยเพียงลูกเดียวคือ พายุดีเปรสชั่น “เตี้ยนหมู่” ดังนั้น จึงมีโอกาสน้อยมากที่กรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียงจะเกิดน้ำท่วมแบบปี 2554 ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการและการระบายน้ำเป็นสำคัญ
จึงขอให้ประชาชนอย่าได้ตระหนกและขอให้ติดตามข่าวพยากรณ์อากาศและประกาศแจ้งเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยา หน่วยงานของทางราชการ เป็นระยะๆ หากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพื่อเติม สามารถสอบถามได้ที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา https://www.tmd.go.th หรือ เฟซบุ๊กกรมอุตุนิยมวิทยา แอพพลิเคชัน Thai weather และสายด่วน 1182 (ตลอด 24 ชั่วโมง)