ฝุ่น PM2.5 ปัญหาที่เราเจอเป็นประจำ เรียกได้ว่าคุ้นเคยกันดี และช่วงปี 62 เราก็เพิ่งเจอมาอย่างหนัก แต่ช่วงนี้กลับเข้าสู่สภาวะปกติ แต่PM2.5 กลับมาอีกครั้งปลายปี 2563-ต้นปี 2564 ส่วนกรมควบคุมมลพิษ เตรียมพร้อม แต่เชื่อว่าสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 จะเบาบางกว่าปีก่อน
แนวทางการรับมือและป้องกัน ฝุ่น PM2.5
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ จะขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน สนับสนุนส่งเสริมการสื่อสารประชาสัมพันธ์ในทุกระดับ ได้แก่
1. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ ผ่านการประชุมคณะอนุกรรมการสื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และคณะอนุกรรมการด้านวิชาการแก้ไขปัญหามลภาวะอากาศ ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยจะมีการตั้งโฆษกฝุ่นละออง PM2.5 เพื่อสื่อสารต่อสาธารณะ การตั้งศูนย์ข้อมูลการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (War Room) ในช่วงเหตุการณ์ไม่ปกติ รวมทั้งจะประชุมหารือ บูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง
2. การติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ จำนวน 12 สถานี และของกรุงเทพฯ จำนวน 50 สถานี พร้อมแจ้งเตือน และรายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศอย่างต่อเนื่องผ่าน www.air4thai.com และแอปพลิเคชัน AIR4THAI
3. กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับ GISTDA และ NASA พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศมาประเมินฝุ่นละอองเชิงพื้นที่ของประเทศ เพื่อเสริมข้อมูลในพื้นที่ที่ไม่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ และสามารถพยากรณ์ได้ล่วงหน้าสามวัน เพื่อประโยชน์ในการแจ้งเตือนและเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างพัฒนาระบบคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 โดยใช้แบบจำลอง WRF Chem ในช่วงวิกฤติ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
4. กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับกรมประชาสัมพันธ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการสื่อสารประชาสัมพันธ์แก่กลุ่มเป้าหมาย โดยแบ่งได้ ดังนี้
ระยะที่ 1 ในประเด็น “ไทยรู้สู้ฝุ่น”
ระยะที่ 2 ในประเด็น “คนไทยรับผิดชอบ ส่วนตัวเพื่อส่วนรวม”
ระยะที่ 3 ในประเด็น “ชีวิตวิถีใหม่ ชีวิตดีเริ่มที่เรา” โดยจะเผยแพร่ในช่วงเดือนธันวาคม 2564 จนถึงมกราคม 2564
5. กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จะติดตามกำกับดูแลโครงการวิจัยเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อให้การวิจัยครอบคลุมตามความต้องการในการนำผลงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ในการเตรียมการและการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายอย่างบูรณาการ เชื่อมโยงผลผลิตเพื่อให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลต่อไป โดยครอบคลุมประเด็นต่างๆ ได้แก่
– การประเมินมาตรการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง”
– การประเมินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ผลกระทบเชิงสุขภาพ คุณภาพชีวิต และเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5
– การศึกษาเพื่อนำมาตรการไปสู่การปฏิบัติในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการระบายมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จากแหล่งกำเนิด
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวต่อว่า ประชาชนควรติดตามการรายงานคุณภาพอากาศจากแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ และปกป้องตนเองจากมลพิษทางอากาศให้เหมาะสมกับสภาวะสุขภาพของแต่ละคน ด้วยฝุ่น PM2.5 จะส่งผลกระทบทางสุขภาพที่รุนแรงต่อกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ เด็กอายุไม่เกิน 6 ปี และสตรีมีครรภ์ โดยประชาชนซึ่งภูมิคุ้มกันแข็งแรงจะได้รับผลกระทบน้อย ดังนั้น รัฐจึงจำเป็นต้องเน้นการให้การปกป้องประชาชนกลุ่มเสี่ยงก่อน
ขอบคุณไทยรัฐ