ชัชชาติ เคาะแล้ว ค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส ตลอดสายไม่เกิน 59 บาท

ผู้ว่าชัตชาติเตรียมคุยกับ บอร์ดเคที ปมสัมปทาน หลังเคาะค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าสายสีเขียว ตลอดสายไม่เกิน 59 บาท คาดได้ข้อสรุปเดือนหน้า

 

 

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ที่อาคารธานีนพรัตน์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าร่างสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า จะต้องสรุปความคืบหน้าร่วมกับ ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ซึ่งประธานกรรมการบริหารบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ เคที คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน แต่ตอนนี้สิ่งสำคัญที่เร่งดำเนินการคือ การคิดราคาค่าโดยรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนที่ 2 ที่ให้บริการฟรีมานาน โดยยังไม่มีการจัดเก็บค่าโดยสาร เนื่องจาก กทม.มีภาระหนี้ที่ต้องใช้จ่ายเป็นค่าจ้างเดินรถ อาจจะได้ข้อสรุปก่อน ปัจจุบัน รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายดังกล่าว มีผู้ใช้บริการประมาณ 27% ซึ่งการคิดราคาค่าโดยสารจะเป็นการแก้ปัญหาชั่วคราวไม่ได้แก้ในภาพรวม

 

เบื้องต้น คงเป็นไปตามข้อเสนอของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่ให้เก็บค่าโดยสารไม่เกิน 59 บาท ในส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 “แบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ” และ “หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต” ซึ่งเป็นการคิดราคาชั่วคราวระยะสั้นเฉพาะกรณีนี้ ไม่ใช่การคิดราคาภาพรวมทั้งระบบว่าไม่เกิน 59 บาทในระยะยาว และคิดว่าผู้ที่ใช้บริการในส่วนที่ 2 คงถึงเวลาที่ต้องจ่ายค่าโดยสาร เพราะเราต้องจ่ายค่าเดินรถเพื่อความยุติธรรม


นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีหนี้ส่วนต่อขยายเกือบๆ 100,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีหนี้โครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลแบ่งเป็น หนี้วางระบบ ประมาณ 19,000 ล้านบาท และหนี้ค่าจ้างเดินรถ อีก 13,000 ล้านบาท ดังนั้น เรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว มี 2 ส่วน ที่ต้องพิจารณา ได้แก่ การคิดอัตราค่าโดยสารที่ไม่ได้คิดมานานหลายปี และการต่อสัญญาสัมปทาน คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนหน้า

 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม.

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ปัจจุบัน มีระยะทางรวม 67.45 กิโลเมตร จำนวน 59 สถานี เชื่อมพื้นที่ 3 จังหวัด กทม. ปทุมธานี และ สมุทรปราการ แบ่งเป็น 3 ส่วน โดยเส้นทางหลัก สายสุขุมวิท “หมอชิต-อ่อนนุช” และ สายสีลม “สนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน” ระยะทาง 23.5 กิโลเมตร กทม.ให้สัมปทาน บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เป็นเวลา 30 ปี เปิดบริการวันที่ 5 ธ.ค. 2542 ครบสัญญาวันที่ 4 ธ.ค. 2572 ปัจจุบันเก็บค่าโดยสาร 16-44 บาท

 

2.ต่อขยายช่วงที่ 1 สะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้า และ อ่อนนุช-แบริ่ง ระยะทางรวม 12.75 กิโลเมตร กทม.ก่อสร้างและติดตั้งระบบ โดยมอบให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือเคที วิสาหกิจของ กทม. เป็นผู้เดินการและได้ว่าจ้าง BTSC เดินรถถึงปี 2585 เก็บค่าโดยสาร 15 บาท ตลอดสาย

 

และ 3.ส่วนต่อขยายช่วงที่ 2 แบริ่ง-สมุทรปราการ และ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทางรวม 31.20 กิโลเมตร กทม.รับโอนกรรมสิทธิ์โครงการพร้อมภาระหนี้จาก รฟม. เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2561 และว่าจ้างให้ BTSC ติดตั้งระบบและเดินรถถึงปี 2585

 

 

 

 

อบคุณเดลินิวส์/คมชัดลึก