ศธ. เห็นชอบแก้ระเบียบทรงผม ศธ. ไม่สนับสนุนการกระทำรุนแรงต่อเด็ก ดังนั้นต่อไป “การกล้อนผมเด็ก” จะไม่สามารถกระทำได้ กรณีนักเรียนปฏิบัติไม่ถูกต้องตามระเบียบ การลงโทษต้องคำนึงถึงสิทธิของนักเรียน และเป็นไปตามระเบียบ
เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 สำนักข่าวไทย รายงานว่า ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อกรพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาข้อร้องเรียนของนักเรียน นักศึกษา เปิดเผยภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่างระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่าการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 โดยมีข้อเสนอแนะแก้ไข 3 ประการ ดังนี้
1. ปรับแก้ระเบียบฯ การไว้ทรงผมของนักเรียน ให้มีความเหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน และสอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การมีส่วนร่วม รวมทั้งการป้องกันการเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ เพราะปัจจุบันสังคมไทยมีความหลากหลายทางเพศมากยิ่งขึ้น
2. การแก้ไขระเบียบข้อที่ 4 นักเรียนจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาว ให้เป็นไปตามความเหมาะสมและรวบให้เรียบร้อย เพื่อสะท้อนความหลากหลายทางเพศและไม่ให้มีปัญหาในทางปฏิบัติ ส่วนการดัดผม ย้อมสีผมให้ต่างไปจากเดิม ไว้หนวดหรือไว้เครา ยังคงเป็นข้อห้ามตามเดิม เนื่องเห็นว่าอาจทำให้เสียสมาธิในการเรียน
3. การแก้ไขระเบียบข้อที่ 7 ภายใต้บังคับข้อ 4 ให้สถานศึกษาวางระเบียบการไว้ทรงผมของนักเรียนได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ โดยต้องได้รับความเห็นชอบร่วมกันจากคณะกรรมการสถานศึกษา หรือคณะกรรมการบริหารโรงเรียนเอกชน แล้วแต่กรณี
พร้อมทั้งให้สถานศึกษาดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน บุคลากรทางการศึกษา เครือข่ายผู้ปกครอง และเผยแพร่ผลรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวไว้ในสถานศึกษา หรือระบบสารสนเทศของสถานศึกษานั้น ๆ
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีข้อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีหนังสือทำความเข้าใจไปยังโรงเรียน เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของนักเรียน โดยใช้กลไกของสภานักเรียน เช่น ให้ผู้แทนสภานักเรียน เข้าร่วมสังเกตการณ์ ในการประชุมของคณะกรรมการสถานศึกษา ตามข้อ 7
กรณีนักเรียนปฏิบัติไม่ถูกต้องตามระเบียบ การลงโทษต้องคำนึงถึงสิทธิของนักเรียน และเป็นไปตามระเบียบ ศธ. และกฎหมายคุ้มครองเด็ก โดย ศธ. ไม่สนับสนุนการกระทำรุนแรงต่อเด็ก ดังนั้นต่อไป “การกล้อนผมเด็ก” จะไม่สามารถกระทำได้
ส่วน แนวทางแก้ไขปัญหาเครื่องแบบนักเรียน ตามข้อเรียกร้องของนักเรียนที่ต้องการยกเลิกการแต่งเครื่องแบบนักเรียน และเครื่องแบบลูกเสือ ยุวกาชาด เนตรนารี เปลี่ยนมาแต่งกายตามเพศสภาพ นั้น ที่ประชุมได้หารือแล้ว กรณีนี้มี พ.ร.บ.เครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 และระเบียบ ศธ. ว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 กำกับอยู่
โดยทางคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ระเบียบที่มีอยู่มีความยืดหยุ่นและสามารถประยุกต์ใช้ได้ตามความเหมาะสม เพียงแต่บางโรงเรียนอาจยังไม่มีความเข้าใจ ดังนั้น ที่ประชุมจะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาทำหนังสือซักซ้อมความเข้าใจไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ขอให้มีความยืดหยุ่น โดยใช้ข้อ 15 และ 16 คือ
ข้อ 15 กำหนดว่า : สถานศึกษาใดจะกำหนดให้นักเรียนแต่งครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด นักศึกษาวิชาทหาร หรือแต่งชุดพื้นเมือง ชุดไทย ชุดลำลอง ชุดฝึกงาน ชุดกีฬา ชุดนาฏศิลป์ หรือชุดอื่น ๆ แทนเครื่องแบบนักเรียนตามระเบียบนี้ได้ ในวันใด ให้เป็นไปตามที่สถานศึกษากำหนด โดยคำนึงถึงความประหยัดเหมาะสม
ข้อ 16 ที่กำหนดว่า : ในกรณีมีเหตุจำเห็นหรือมีเหตุพิเศษ ให้สถานศึกษาพิจารณายกเว้น หรือผ่อนผันการแต่งกายเครื่องแบบนักเรียนได้ตามความเหมาะสม และหากจะออกระเบียบใดเพิ่มเติม ให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากคณะกรรมการสถานศึกษา นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา และเครือข่ายผู้ปกครองก่อน
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาเพิ่มเติม 3 คณะ ได้แก่ คณะทำงานด้านการละเมิด การกระทำความรุนแรง และความปลอดภัยในสถานศึกษา มีนายสรรพสิทธ์ คุมพ์ประพันธ์ ตัวแทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นประธาน และมีผู้แทน สพฐ. เป็นเลขานุการ โดยจะเสนอรายชื่อทั้ง 3 คณะให้ รมว.ศึกษาธิการ พิจารณาลงนามภายในสัปดาห์หน้า
ขอบคุณ สำนักข่าวไทย,Kapook.com