อธิบดีกรมฯน้ำบาดาลยืนยัน “น้ำบาดาลโซดา” ดื่มได้

อธิบดีกรมฯน้ำบาดาลยืนยัน “น้ำบาดาลโซดา”ที่เจาะได้สามารถดื่มได้จริง ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไม่มีสารปนเปื้อน ไม่มีสารพิษปะปน ที่สำคัญพบว่าคุณภาพน้ำมีแร่ธาตุมากกว่าน้ำแร่ที่จำหน่ายในท้องตลาด เทียบเท่าหรืออาจจะดีกว่าน้ำแร่จากต่างประเทศที่มีราคาสูงถึงขวดละ 3,000 บาท ถือเป็นน้ำบาดาลที่มีคุณภาพดีที่สุด ในประเทศไทยเท่าที่เคยค้นพบมา 

 

 

กลายเป็นประเด็นดราม่าเกิดความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกัน กรณีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้สำรวจและขุดเจาะพบแหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี จำนวน 3 บ่อ และบ่อน้ำบาดาล 2 บ่อที่เจาะพบ มีน้ำบาดาลพุ่งขึ้นมาเป็นน้ำพุ สูงราว 2-3 เมตร มีรสชาติคล้ายน้ำโซดา สามารถใช้ดื่มกินได้ สร้างความฮือฮาให้แก่ชาวบ้าน ขณะที่หน่วยงานฝ่ายปกครองในพื้นที่ขู่จะสั่งปิดบ่อน้ำบาดาลดังกล่าว อ้างยังไม่มีการตรวจสอบคุณภาพน้ำ เกรงประชาชนดื่มกินแล้วจะเกิดอันตราย อีกทั้งมีชาวบ้านให้ความสนใจแห่มาดูบ่อบาดาลน้ำโซดาแน่นขนัด เกรงจะเป็นแหล่งแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19

 

 

ที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเมื่อวันที่ 15 ก.พ. นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล แถลงผลการค้นพบแหล่งน้ำบาดาลใหม่ในพื้นที่แล้งซ้ำซาก ต.ห้วยกระเจา อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี ว่า หลังมีหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์เรื่องคุณภาพน้ำบาดาลจากแหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่ ต.ห้วยกระเจา กรมฯได้นำน้ำจากการสูบทดสอบปริมาณน้ำบาดาลในพื้นที่ดังกล่าวที่สูบขึ้นมาได้เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ และวิเคราะห์คุณภาพน้ำด้วยการเก็บตัวอย่างน้ำถึง 3 ครั้ง พบว่าบ่อน้ำบาดาล บ่อที่ 1 และบ่อที่ 2 มีไบคาร์บอเนตเจือสูง ปริมาณ 2,420 มิลลิกรัมต่อลิตร และ 1,870 มิลลิกรัมต่อลิตร ส่งผลให้มีรสซ่าเหมือนโซดา มีฟลูออไรด์สูงเล็กน้อย 1.4 มิลลิกรัมต่อลิตร และ 1.1 มิลลิกรัมต่อลิตร มีเหล็กสูง 10 มิลลิกรัมต่อลิตร และ 28 มิลลิกรัมต่อลิตร ตามลำดับ

 

 

“ยืนยันว่าน้ำบาดาลที่เจาะได้สามารถดื่มได้จริง ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไม่มีสารปนเปื้อน ไม่มีสารพิษปะปน ที่สำคัญพบว่าคุณภาพน้ำมีแร่ธาตุมากกว่าน้ำแร่ที่จำหน่ายในท้องตลาด เทียบเท่าหรืออาจจะดีกว่าน้ำแร่จากต่างประเทศที่มีราคาสูงถึงขวดละ 3,000 บาท ถือเป็นน้ำบาดาลที่มีคุณภาพดีที่สุด ในประเทศไทยเท่าที่เคยค้นพบมา ขอให้มั่นใจไม่ต้องกลัวว่าน้ำจะกินไม่ได้ ส่วนที่มีนักวิชาการ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ต้องบอกว่าคุณภาพน้ำเป็นเรื่องของหลักการทางวิทยาศาสตร์ ตรวจสอบได้ อย่าวิจารณ์โดยไม่ใช้วิทยาศาสตร์มาอ้างอิง” นายศักดิ์ดากล่าว

 
 
 

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลกล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบปริมาณน้ำบาดาลทั้ง 2 บ่อ พบว่า มีปริมาณน้ำที่สูงมาก บ่อแรกขุดลึก 303 เมตร มีปริมาณน้ำ 30-50 ลบ.ม.ต่อชั่วโมง ส่วนอีกบ่อขุดลึก 224 เมตร ปริมาณน้ำ 30-50 ลบ.ม.ต่อชั่วโมง คาดว่าจะสามารถพัฒนานำน้ำขึ้นมาใช้ได้ไม่น้อยกว่า 2,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือไม่น้อยกว่า 500,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี และตามแผนจะต้องจัดหาบ่อบาดาลรวม 6 บ่อ ขณะนี้เร่งขุดเจาะบ่อบาดาลเพิ่มอีก 3 บ่อ ในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว คาดว่าใช้เวลา 14 วันจะแล้วเสร็จ หากครบ 6 บ่อ จะได้ปริมาณน้ำ 1 ล้าน ลบ.ม./ชม. สามารถช่วยประชาชนใน 3 อำเภอคือ ห้วยกระเจา เลาขวัญ และพนมทวนได้

นายศักดิ์ดากล่าวอีกว่า กรมฯเตรียมประกาศเขตอนุรักษ์บาดาล โดยใช้กฎหมาย พ.ร.บ.น้ำบาดาล พ.ศ.2520 คุ้มครองพื้นที่รอบๆ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์และแก้ปัญหาการลักลอบขุดเจาะน้ำบาดาล ขณะนี้พบว่าราคาที่ดินบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงเริ่มราคาพุ่งสูงขึ้น เพราะเป็นพื้นที่ที่มีน้ำ ที่สำคัญการขุดเจาะน้ำบาดาลครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี หลังจากมีความพยายามที่จะผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ระยะทางกว่า 80 กิโลเมตร มาแก้ปัญหาภัยแล้งที่แทบเป็นทะเลทรายของ จ.กาญจนบุรี ได้สำเร็จ ส่วนข้อพิพาทเรื่องที่ดิน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวคาบเกี่ยวระหว่าง 2 อำเภอ คือห้วยกระเจา และบ่อพลอย เชื่อว่าระดับจังหวัดและอำเภอ น่าจะหารือกันเองได้

 



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการแถลงข่าว นักวิทยาศาสตร์ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ทดลองกรองน้ำบาดาลจากบ่อน้ำบาดาลที่เก็บมาจากพื้นที่ ต.ห้วยกระเจา ซึ่งน้ำดังกล่าวมีสีเหลืองขุ่น หลังจากกรองเอาสารละลายเหล็กออก นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ทดลองดื่มให้ดู พร้อมผู้สื่อข่าวได้ทดลองดื่มน้ำที่ผ่านการกรองแล้ว ปรากฏว่าน้ำดังกล่าวมีความใสสะอาดขึ้น แต่ยังคงรสหวาน และไม่มีกลิ่นสนิมเหล็กแต่อย่างใด

 

 

 

ขอบคุณ ไทยรัฐ