เปิดภาพสะเทือนใจ ผู้ป่วยโควิด-19 นอนข้างถนน เพราะไร้โรงพยาบาลรับ กลุ่มเส้น-ด้าย จี้ รัฐบาล แสดงความชัดเจนเกี่ยวกับ โรคโควิด เพื่อไม่ให้คนป่วยต้องนอนรอข้างถนน ทั้งที่ยังมีเตียงในระบบรองรับ ด้านอธิบดีกรมการแพทย์ พร้อม ผอ.รพ.นพรัตนราชธานี แจงกรณีผู้ป่วยนอนข้างถนนรอตรวจโควิด เหตุวันหยุดราชการ ขออภัยสื่อสารคลาดเคลื่อน
วันที่ 22 ก.พ. ที่ศูนย์ประสานงาน กลุ่มเส้น-ด้าย ถ.พหลโยธิน นายคริส โปตระนันทน์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มเส้น-ด้าย เปิดเผยถึงสถานการณ์ฮอสพิเทลหลายที่เริ่มปิดรับคนไข้เนื่องจากเตียงเต็ม ทำให้คนไข้หลายคนรอคอยอยู่ที่บ้าน และผู้ป่วยบางคนต้องออกมานอนรอเตียงริมถนน ก่อนขอความช่วยเหลือมาที่กลุ่มเส้น-ด้าย ให้ช่วยหาเตียงเข้าพักรักษาตัว ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นเพราะความไม่ชัดเจนในนโยบายบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาล ว่าจะตัดสินใจไปทางไหน ระหว่างจะให้โควิด ยังเป็นโรคติดต่อร้ายแรงต้องควบคุมต่อไป หรือจะให้โควิดเป็นโรคทั่วไปเหมือนการเป็นไข้หวัดใหญ่ ให้ประชาชนเข้ารักษาพยาบาลตามสิทธิการรักษาของแต่ละคน
ซึ่งกลายเป็นว่า นโยบายของรัฐบาลวันนี้มันครึ่งๆ กลางๆ คือ โควิดยังเป็นโรคติดต่อร้ายแรงต้องควบคุมต่อไป แต่ให้ประชาชนเข้ารักษาพยาบาลตามสิทธิการรักษาของแต่ละคนกันเอง จึงไม่มีโรงพยาบาลไหนอยากรับรักษาผู้ป่วยโควิดเพิ่ม ทั้งที่ยังมีเตียง เพื่อเก็บเตียงให้กับกลุ่มผู้ป่วยโควิด ที่มีกำลังในการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ทำให้เกิดเคส รปภ.รายหนึ่งติดเชื้อโควิด ต้องมานอนบริเวณหน้าธนาคารรอเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
หรือกรณีล่าสุด เมื่อคืนวันที่ 21 ก.พ. ที่มีคุณลุงท่านหนึ่งตรวจโควิดจากโรงพยาบาลผลออกมาติดเชื้อ ระดับการป่วยสีเหลือง-สีแดง แต่ไร้ที่รักษา บ้านก็ไม่มีจึงมานอนข้างทาง ยังไม่นับกรณีที่กลุ่มบริษัทประกันภัยบางบริษัท ตั้งเงื่อนไขจะไม่จ่ายเงินชดเชยรายวันให้กับผู้เอาประกันที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาในระบบโรงพยาบาลหรือฮอสพิเทล จึงทำให้ประชาชนที่ป่วยไม่รุนแรงเกิดความตื่นตระหนกหาเตียงกันเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ระบบเตียงในโรงพยาบาลยังมีพอรองรับได้ เพราะจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ขั้นรุนแรงมีระดับน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
นายคริส กล่าวอีกว่า หากรัฐบาล ทั้ง ศบค. และกระทรวงสาธารณสุข มีความชัดเจนว่า จะเลือกปฏิบัติแนวทางไหน ถ้าให้โควิด ยังเป็นโรคติดต่อร้ายแรงต้องควบคุมต่อไป ก็ต้องมีระบบ HI ที่ดี มีความรวดเร็วในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่บ้าน และต้องมีระบบ CI ในทุกชุมชน เพื่อรองรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถอยู่ในระบบ HI ได้ รวมทั้งต้องให้ผู้ป่วยที่ทำประกันโควิดที่อยู่ในรักษาทั้งระบบ HI และ CI มีสิทธิได้รับเงินชดเชยจากบริษัทประกันภัย เช่นเดียวกับการเข้ารับการรักษาในระบบโรงพยาบาลหรือฮอสพิเทล
หรือถ้ารัฐบาลให้โควิด เป็นโรคทั่วไปเหมือนการเป็นไข้หวัดใหญ่ ให้ประชาชนเข้ารักษาพยาบาลตามสิทธิการรักษาของแต่ละคน ก็ต้องเปิดเสรีในการรักษาพยาบาล ทุกโรงพยาบาลต้องรักษาผู้ป่วยโควิดอย่างเท่าเทียมทุกคน เปิดเสรีการฉีดวัคซีนตามความสมัครใจ และเลิกควบคุมการจำหน่ายยาฟาวิพิราเวียร์ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้น ซึ่งหากรัฐบาลมีความชัดเจนในทางปฏิบัติทางใดทางหนึ่งอย่างเป็นรูปธรรม กลุ่มเส้น-ด้าย ก็พร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
ด้าน น.ส.ปูเป้ เจ้าหน้าที่อาสาสมัครกู้ภัยรับ-ส่งผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ย่านรังสิต จ.ปทุมธานี กล่าวว่า ตอนนี้ ปัญหาที่พบส่วนใหญ่ คือ ประชาชนตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด รัฐให้ไปโรงพยาบาลตามสิทธิ แต่ไปถึงหน้าโรงพยาบาลแล้ว โรงพยาบาลปฏิเสธที่จะตรวจ RT-PCR ให้ หลายวันมานี้ มีคนโทรมาขอคำปรึกษาเรื่องนี้ถี่ขึ้นวันละหลายๆ คน ยอดเพิ่มขึ้น สถานการณ์เดิมกำลังวนมา ขณะที่รัฐก็กำลังจะยกเลิกนโยบายการรับเข้ารักษาที่โรงพยาบาลใดก็ได้ แต่ให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิเท่านั้น ยกเว้นกรณีฉุกเฉินวิกฤติยังสามารถใช้ระบบการรักษาที่โรงพยาบาลใดก็ได้ จนกว่าจะพ้นภาวะวิกฤติหรือไม่เกิน 72 ชม.
ขณะที่ศูนย์พักคอยก็ทยอยเต็ม Hospitel ก็ทยอยปิดไปหลายแห่งแล้ว ที่เหลืออยู่ก็ผู้ป่วยเต็ม อย่างน้อยโรงพยาบาลตามสิทธิควรรับตรวจ RT-PCR แล้วแนะนำให้เขา HI ส่งยาให้ก็ได้ ตอนนี้ถ้าใครตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด ก็ลงทะเบียน HI แล้วอยู่บ้านทำ HI ไปตามมีตามเกิด รอไป รอเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับมา อาการไม่หนักไปโรงพยาบาลเขาไม่รับ ดังนั้นก็ต้องดูแลตัวเองกันดีๆ
ต่อมาเมื่อวันที่ วันที่ 22 ก.พ. 2565 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ พร้อมด้วย นพ.เกรียงไกร นามไธสง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี และคณะผู้บริหาร ร่วมแถลงข่าวกรณีโซเชียลมีเดียได้นำเสนอข่าวผู้ป่วยชายรายหนึ่งที่ตรวจ ATK ด้วยตนเองแล้วทราบผลเป็นบวก จนต้องนอนข้างถนน ขณะรอทำการตรวจที่โรงพยาบาลอีกครั้ง เนื่องจากเกรงจะนำเชื้อไปติดคนในครอบครัว ซึ่งวันต่อมาได้เดินทางมาที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานีเพื่อรับการตรวจอีกครั้ง แต่เป็นวันหยุดราชการ ต้องมาใหม่ในวันทำการ
โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ชี้แจงว่า กรณีผู้ป่วยชายรายดังกล่าวที่มาขอรับบริการเพื่อตรวจหาเชื้อโควิดในช่วงเช้าวันอาทิตย์ที่ 20 ก.พ. 2565 ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ เจ้าหน้าที่พยาบาลจึงแนะนำให้กลับบ้าน พร้อมทั้งปฏิบัติตัวตามมาตรการทางการแพทย์ และให้มาตรวจซ้ำในเช้าวันจันทร์ที่ 21 ก.พ. ซึ่งผู้ป่วยมาตามที่แนะนำ แต่เนื่องจากมีผู้รับบริการเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการสื่อสาร ทางโรงพยาบาลนพรัตนราชธานีจึงขออภัยในข้อผิดพลาดดังกล่าว
ทั้งนี้ คณะผู้บริหารโรงพยาบาล ทีมแพทย์พยาบาล และเจ้าหน้าที่ ได้ให้ความสำคัญกับการรักษาผู้ป่วยเป็นหลัก เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤติไปด้วยกัน จึงได้แก้ไขปัญหารองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยจะเพิ่มการให้บริการตรวจคัดกรองในวันหยุดราชการ ตั้งแต่วันที่ 26 ก.พ.เป็นต้นไป
ขอบคุณ คมชัดลึก เพจเส้นด้าย,สายไหมเราต้องรอด ,เรื่องเล่าเช้านี้/ไทยรัฐ