เชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า B.1.1.529 จากบอตสวานา ประเทศในทวีปแอฟริกา เป็นเชื้อโควิด-19 ที่ร้ายแรงที่สุดตัวใหม่เท่าที่เคยพบเห็น แถมยังแพร่ง่าย และดื้อวัคซีน ด้านบริษัทไบออนเทคของเยอรมนีแถลง กำลังเร่งศึกษาว่าวัคซีนที่พัฒนาร่วมกับไฟเซอร์ปกป้องโควิดสายพันธุ์ B.1.1.529 ได้ดีแค่ไหน
วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 เพจเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ของ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความ เกี่ยวกับ “โควิดสายพันธุ์ใหม่” B.1.1.529 หวั่นระบาดไทย โดยข้อมูลทั้งหมดมีดังนี้
โควิด-19 สายพันธุ์ B.1.1.529
ไวรัสสายพันธุ์ที่พบใหม่นี้ เป็นสายพันธุ์ที่พบในแอฟริกาใต้ มีการพบนอกแอฟริกาใต้แต่ส่วนใหญ่เป็นการเดินทางมาจากแอฟริกาใต้ เช่นฮ่องกง
สายพันธุ์ที่พบใหม่นี้มีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมประมาณ 50 ตำแหน่ง และมากกว่า 30 ตำแหน่งเกิดขึ้นบนหนามแหลมหรือสไปรท์โปรตีน
การเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งที่ภูมิต้านทานแอนติบอดีจะจับ เป็นที่เกรงว่าจะทำให้ไวรัสนี้ดื้อต่อวัคซีน
และที่สำคัญไวรัสนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งที่เอนไซม์จะตัด cleavage site โดยเฉพาะเปลี่ยนเป็นกรดอะมิโนที่เป็นด่าง (K = lysine) ทำให้ง่ายต่อการ ตัดด้วยเอนไซม์ Furin ของมนุษย์ ไวรัสเข้าสู่เซลได้ง่าย หรือติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
ในส่วนของ non-structural protein 6 nsp6 มีการขาดหายของพันธุกรรม ในตำแหน่งนี้เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้มีการแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น ในส่วนของนิวคลีโอแคปสิด ก็เช่นเดียวกันมีการพบการเปลี่ยนแปลงคล้ายสายพันธุ์ แอลฟา
อย่างไรก็ตามสายพันธุ์นี้ ยังพบจำเพาะที่อยู่ที่แอฟริกาใต้ การเฝ้าระวังการเคลื่อนย้ายของประชากร จะช่วยลดการแพร่กระจายของสายพันธุ์ดังกล่าวได้
กฎเกณฑ์ของประเทศไทยโดยเฉพาะ test to go สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากประเทศในกลุ่มอัฟริกาใต้ จะต้องมีมาตรการในการควบคุมดูแลเพิ่มขึ้น คงจะไม่เพียงแค่ test to go เท่านั้น เพื่อป้องกันการหลุดรอดของสายพันธุ์ดังกล่าวเข้าสู่ประเทศไทย
โฆษกไบออนเทคระบุ “เราคาดว่าจะได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการเร็วสุดในสองสัปดาห์ ข้อมูลเหล่านี้จะให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า B.1.1.529 เป็นสายพันธุ์ที่หลุดรอดการป้องกันของวัคซีน จนต้องปรับสูตรหรือไม่หากกระจายไปทั่วโลก”
ไบออนเทคกล่าวด้วยว่า สายพันธุ์ B.1.1.529 แตกต่างจากสายพันธุ์ก่อนๆ อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากมีการกลายพันธุ์เพิ่มเติมที่โปรตีนหนาม แต่ถ้าวัคซีนไบออนเทคที่ใช้เทคโนโลยีใหม่อย่าง mRNA จำเป็นต้องปรับสูตรก็สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว
“ไฟเซอร์และไบออนเทคดำเนินการมาก่อนหน้านี้หลายเดือนแล้ว เพื่อปรับวัคซีน mRNA ได้ภายในหกสัปดาห์ และขนส่งล็อตแรกได้ภายใน 100 วัน กรณีพบโควิด-19 สายพันธุ์ที่หลุดรอดวัคซีนไปได้”
ขอบคุณ คมชัดลึก/กรุงเทพธุรกิจ