8 สิ่งที่ต้องเช็คก่อนการเดินทางไกล

ใครที่วางแผนจะขับรถทางไกล อย่าลืมตรวจเช็ค 8 สิ่งต่อไปนี้ก่อนการเดินทาง เพื่อการเดินทางที่ไม่สะดุดและปลอดภัย

 

 

1. แบตเตอรี่รถยนต์

อันดับแรกของการเช็กสภาพรถ คือแบตเตอรี่ เพราะเป็นหัวใจสำคัญเพื่อป้อนกระแสไฟฟ้าให้กับอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องยนต์ ระบบไฟส่องสว่างและระบบต่างๆ ที่ต้องการกระแสไฟฟ้าไปเลี้ยงเพื่อให้ทำงานได้ โดยแบตเตอรี่แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ แบบน้ำ แบบแห้ง และแบบกึ่งแห้ง ซึ่งมีวิธีการดูแลที่ต่างกัน ดังนี้

แบบน้ำ: แบตเตอรี่แบบนี้จะต้องเติมน้ำกลั่นและหมั่นดูแลอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้น้ำระเหยออก ต้องมีการสังเกตและเติมน้ำอย่างต่อเนื่องไม่ให้ขาดและอย่าเติมล้นเกินไป เพราะถ้าน้ำเดือด กรดที่อยู่ภายในแบตเตอรี่จะล้นออกมากัดขั้วหรือตัวถังรถได้

แบบแห้ง: แบตเตอรี่แบบนี้ไม่ต้องดูแลอะไรมาก แต่จะมีราคาค่อนข้างสูงและอายุการใช้งานค่อนข้างสั้นกว่าแบบน้ำ

แบบกึ่งแห้ง: เป็นแบตเตอรี่ที่คนนิยมใช้กันมากที่สุด เพราะไม่ต้องดูแลมาก โดยเติมน้ำกลั่นปีละ 1-2 ครั้งเท่านั้น แต่ถ้าลืมเติมก็จะทำให้แบตเตอรี่เสียหายและรถสตาร์ตไม่ติดได้

ดังนั้นก่อนจะเดินทางไกล อย่าลืมเช็กสภาพรถให้แบตเตอรี่อยู่ในสภาพสมบูรณ์หรือไม่ หมั่นทำความสะอาดคราบขี้เกลือที่ขั้วแบตเตอรี่ ตรวจสอบความแน่นของขั้วและฉนวนหุ้มสาย เช็กระดับน้ำกลั่นให้อยู่ในระดับที่กำหนดและเติมน้ำกลั่นให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม และอย่าลืมเช็กวันหมดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่เพื่อให้แน่ใจว่ายังใช้งานได้ดีอยู่หรือไม่ หมั่นสังเกตอาการ ถ้าเมื่อไหร่ที่เริ่มสตาร์ตติดยาก แบตเตอรี่อาจหมดอายุการใช้งาน (โดยทั่วไปมีอายุการใช้งานประมาณ 2 ปี) ให้เตรียมเปลี่ยนตัวใหม่ได้เลย

 

2. ยางรถยนต์

 

3. ระบบไฟ

เรื่องระบบไฟต่างๆ ก็เป็นส่วนสำคัญในการเช็กสภาพรถ ดังนั้นควรตรวจสอบระบบไฟและสัญญาณไฟในรถยนต์ให้พร้อม ด้วยการเปิดไฟหน้าทั้งสูง-ต่ำ ไฟท้าย ไฟเลี้ยว ไฟเบรก ไฟตัดหมอก ไฟทุกดวงต้องส่องสว่างได้อย่างสมบูรณ์ ไม่กะพริบ ไม่ดับ เพื่อความปลอดภัยในการขับขี่

 

4. ระบบเบรก

อย่าลืมเช็กสภาพรถ โดยเฉพาะผ้าเบรก เสียงเบรก และน้ำมันเบรก ตรวจสอบได้โดยการเหยียบเบรก หากมีเสียงดังผิดปกติแสดงว่าผ้าเบรกอาจมีปัญหา ควรเข้าอู่ให้ช่างตรวจสอบด่วน และอย่าลืมเช็กน้ำมันเบรก ควรให้อยู่ในระดับระหว่างไม่เกิน Max และไม่ต่ำกว่า Min แต่ถ้าเห็นว่าน้ำมันเบรกพร่องหายไป ควรรีบหาสาเหตุความผิดปกตินั้นทันที หรือนำรถไปเข้าอู่ให้ช่างตรวจเช็กและแก้ไขโดยด่วน เนื่องจากระบบเบรกเป็นระบบปิด น้ำมันเบรกจะไม่สามารถระเหยออกไปได้เอง เว้นแต่กรณีผ้าเบรกสึกหรือมีจุดรั่วไหล

 

5. หม้อน้ำ

หม้อนำก็เป็นอีกหนึ่งจุดสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามในการเช็กสภาพรถ เพราะทำหน้าที่ระบายความร้อนให้กับเครื่องยนต์ หากมีความร้อนสะสมมากเกินไป ประกอบกับอากาศภายนอกที่ร้อนอยู่แล้ว แล้วหม้อน้ำไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีก็อาจจะทำให้เครื่องยนต์น็อกได้

ดังนั้นจึงควรเช็กระบบหล่อเย็นอยู่เสมอ โดยดูจากระดับน้ำหล่อเย็นในหม้อพักและหม้อน้ำว่ายังมีน้ำอยู่ไหม เช็กว่าพัดลมหม้อน้ำและมอเตอร์ยังทำงานเป็นปกติหรือไม่ ตรวจสอบรอยรั่วของหม้อน้ำ ท่อยาง และข้อต่อต่างๆ หากตรวจพบว่ามีน้ำไหลซึม ควรรีบแก้ไขทันที

ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเช็กน้ำยาหล่อเย็นในหม้อน้ำรถยนต์คือช่วงเช้า ก่อนสตาร์ตเครื่องยนต์ หรือเช็กในตอนที่เครื่องยนต์ไม่มีความร้อนจะดีที่สุด โดยเปิดฝาหม้อน้ำหรือถังพักน้ำสำรอง ดูสีและสภาพว่ายังดูดีอยู่หรือไม่ ถ้าน้ำลดหายไป ควรเติมเข้าไปใหม่โดยใช้น้ำยาหล่อเย็น หรือใช้น้ำเปล่าสะอาดผสมกันในอัตราส่วน 50:50 ลงในหม้อน้ำจนถึงขีด Max (เฉพาะกรณีฉุกเฉินเท่านั้น) และถ้าพบว่าสภาพน้ำมีสีคล้ายสนิม ควรเปลี่ยนถ่ายทันที

 

6. ช่วงล่าง

ช่วงล่างรถยนต์เป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญในการเช็กสภาพรถ สามารถตรวจสอบได้โดยการลองขับรถยนต์ หากพบว่าขณะขับอยู่แล้วพวงมาลัยเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง แสดงว่าอาจมีปัญหาที่ปีกนกซึ่งเป็นระบบรองรับการสะเทือนสำหรับรถยนต์ หรือขับทางตรงแต่ล้อหมุนไม่ตรง ให้ตรวจเช็กที่ลูกหมากแร็ค หรือตอนออกรถและกำลังจะหยุดรถ แล้วพบว่ามีเสียงดังเบาๆ แสดงว่าควรตรวจสภาพปีกนกเป็นพิเศษ หากพบปัญหาเหล่านี้ควรนำรถเข้าอู่เพื่อให้ช่างตรวจเช็กและซ่อมแซมให้เรียบร้อยก่อนนำไปขับทางไกล

 

7. ยางปัดน้ำฝน

เรื่องฟ้าฝนไม่สามารถคาดเดาได้ แม้ว่าช่วงนี้จะเป็นหน้าร้อน แต่ก็อาจเจอฝนตกได้เช่นกัน ดังนั้นจึงควรเช็กสภาพที่ปัดน้ำฝนด้วย โดยเฉพาะการขับทางไกล ต้องเช็กดูว่ายางปัดน้ำฝนเสื่อมสภาพ หรือสามารถรีดน้ำได้ดีหรือไม่ หากเสื่อมสภาพแล้วควรรีบเปลี่ยนทันที เพื่อให้ทัศนวิสัยในการขับขี่ขณะฝนตกสามารถมองเห็นได้ชัดและเพิ่มความปลอดภัยมากขึ้น

 

8. ประกันรถยนต์

นอกจากตรวจเช็กสภาพรถแล้ว เรื่องประกันรถยนต์ก็สำคัญสำหรับการเดินทางทางไกล ควรเช็กวันเดือนปีที่เป็นวันหมดประกันอุบัติเหตุ และพื้นที่ครอบคลุมว่าทั่วประเทศหรือไม่ อย่าลืมนำข้อมูลกรมธรรม์และเบอร์ติดต่อบริษัทประกันติดรถไปด้วยทุกครั้ง

 

 

 

 

ขอบคุณ ไทยรัฐ