วิธีดูแลแบตเตอรี่รถยนต์ขั้นต้น ทำเองได้ ไม่ง้อช่าง

แบตเตอรี่ในรถยนต์เป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญอันดับต้นๆ ของการใช้งานรถยนต์ และการตรวจสอบเป็นประจำก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าจะให้เข้าศูนย์เพื่อตรวจเช็คบ่อยๆ อาจเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยสะดวกมากนัก วันนี้เราจึงนำวิธีดูแลแบตเตอรี่รถยนต์เบื้องต้นมาฝาก ซึ่งการดูแลรักษาแบตเตอรี่ให้ถูกวิธี จะช่วยยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่รถยนต์ของเราได้ไปอีกหลายปีเลยทีเดียว ซึ่งเราสามารถทำได้เองด้วยวิธีการง่ายๆ ดังต่อไปนี้

 

 

1. ตรวจสอบสภาพของแบตเตอรี่เสมอ อย่าให้มีรอยแตกร้าว เพราะจะทำให้แบตเตอรี่ไม่เก็บประจุไฟฟ้า

2. ดูแลขั้วแบตเตอรี่ให้สะอาดเสมอ ถ้ามีคราบเกลือเกิดขึ้น ให้ทำความสะอาด

3. ตรวจสภาพของระดับน้ำกลั่นแบตเตอรี่ทุกๆ 1 สัปดาห์

4. ตรวจเช็กระบบไฟชาร์จของอัลเตอร์เนเตอร์ ว่าระบบไฟชาร์จต่ำหรือสูงไป ถ้าต่ำไป จะมีผลทำให้กำลังไฟไม่พอใช้ในขณะสตาร์ตเครื่องยนต์ หรือถ้าสูงไปจะทำให้น้ำกรดและน้ำกลั่นอยู่ภายในระเหยเร็วหรือเดือดเร็วได้ ในช่วงเวลาเดียวกัน

5. ช่วงที่มีอากาศหนาวหรืออุณหภูมิต่ำ ประสิทธิภาพการแพร่กระจาย ของน้ำกรด และน้ำกลั่นจะด้อยลง เพราะฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้กระแสไฟมากๆ ขณะอากาศเย็น

6. ควรศึกษาถึงการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ให้เหมาะสมกับแบตเตอรี่และไดร์ชาร์จ เพื่อที่จะให้วงจรการไหลของไฟฟ้าเป็นไปด้วยดี

7. ควรเติมน้ำกลั่นให้ได้ตามระดับที่กำหนด ไม่ควรเติมต่ำหรือสูงเกินไป (เติมสูงไป เป็นสาเหตุหลักทำให้ขี้เกลือขึ้นเร็ว แบตฯ สกปรกเร็ว)

 
 
 
 

เมื่อใช้แบตเตอรี่ไปได้สัก 1 ปีครึ่ง หรือ 2 ปี แบตเตอรี่จะเริ่มเสื่อมสภาพ

หากสังเกตดีๆ เมื่อแบตเตอรี่ใกล้เสื่อมสภาพจะมีสัญญาณเตือนดังนี้

1. เครื่องยนต์เริ่มสตาร์ตติดยาก

2. ไฟหน้าไม่ค่อยสว่าง

3. ระบบกระจกไฟฟ้าทำงานช้าลง

4. ระบบไฟฟ้าในรถทำงานผิดปกติ

เมื่อมีสัญญาณเตือนดังนี้ ก็เข้าร้านที่ไว้ใจได้ เปลี่ยนแบตเตอรี่ได้เลยครับ บางครั้งหากมีการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าในรถยนต์เพิ่ม แบตเตอรี่ก็ควรถูกปรับเปลี่ยนความจุให้มีมากขึ้นด้วย ซึ่งหากมีการติดตั้งแบตเตอรี่ใหม่ในยานพาหนะ ควรปฏิบัติดังนี้

1. สังเกตว่าแบตเตอรี่ใหม่ ซึ่งจะใช้ติดรถ อยู่ในสภาพไฟเต็ม

2. ควรบันทึกวันที่เริ่มใช้แบตเตอรี่ใหม่ ไว้เพื่อการตรวจสอบสภาพ เป็นช่วงๆ ร้านแบตเตอรี่หรือร้านไดนาโมบางร้าน ส่วนใหญ่เมื่อเปลี่ยนแบตฯ ลูกใหม่ให้กับลูกค้าใช้วิธีการตอกตัวเลขวันเดือนปีที่เริ่มใช้แบตฯ ลงไปบนตัวแบตเตอรี่เลยทีเดียว

3. ยึดแบตเตอรี่และแท่นวางแบตเตอรี่ให้แน่น ไม่เคลื่อนไหว

4. ถ้าแบตเตอรี่มีท่อยาวระบายอากาศ อย่าให้ท่อระบายอากาศถูกกดทับเพราะอาจทำให้แบตเตอรี่ระเบิดได้

5. ใส่ขั้วไฟก่อน (อาจเป็นขั้วบวกหรือขั้วลบก็แล้วแต่ชนิดของรถ) ก่อนใส่ควรขยายขั้วสวมให้โตกว่าขั้วแบตเตอรี่เล็กน้อย ห้ามตอกขั้วต่ออัดลงไปเพราะจะทำให้ขั้วแบตเตอรี่ทรุดตัว แบตเตอรี่อาจเสียหายได้

6. เมื่อต่อขั้วเรียบร้อย ทาหัวขั้วแบตฯ ทั้งบวกและลบด้วยจารบีเพื่อป้องกันคราบขี้เกลือ

7. ต่อขั้วดินเป็นอันดับสุดท้าย

 

 

 

ขอบคุณ อาคม รวมสุวรรณ